กนง.ประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามคาด หลังตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 ต่ำเกินคาด และไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวยาว ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ ส่งผลให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินได้ ท่ามกลางกระแสข่าวถูกฝ่ายการเมืองกดดันให้ลดดอกเบี้ยนโยบายโดยให้สังคมตีความกันเอาเอง
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 28 และ 29 พฤษภาคม 2556 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาด เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจกลุ่มยูโรยังคงอ่อนแอแต่ความเสี่ยงลดลงบ้าง เศรษฐกิจจีนและเอเชียขยายตัวต่ำกว่าคาด ส่งผลให้การฟื้นตัวของการส่งออกไทยอาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มได้รับผลบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสะท้อนจากการส่งออกและการบริโภคที่ปรับดีขึ้น ในขณะที่ภาวะการเงินโลกยังมีความผันผวนสูง ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ภูมิภาคและต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ขยายตัวต่ำกว่าคาดจากอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อแรงส่งของเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้ โดยเฉพาะหากมีความล่าช้าในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ด้านแนวโน้มการส่งออกก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจภูมิภาคโดยเฉพาะจีนที่ขยายตัวชะลอลง
ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อน้อยลงจากปัจจัยด้านต้นทุน แต่สินเชื่อและหนี้ภาคครัวเรือนยังขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง
คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงขยายตัวเนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดมาก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมได้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ แต่ภายใต้ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินที่ยังมีอยู่
คณะกรรมการฯ ทั้งหมดจำนวน 7 ท่าน จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.75 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินรวมทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามสถานการณ์
ส่วนกระแสกดดันทางการเมืองมีผลต่อการตัดสินใจของ กนง. ในการลดดอกเบี้ยครั้งนี้หรือไม่ นายไพบูลย์ ไม่ตอบคำถาม โดยกล่าวเพียงว่า ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ให้สังคมตีความเอง แต่ กนง. พิจารณาจากปัจจัยเศรษฐกิจทุกด้าน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 2.50 เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่วนธนาคารพาณิชย์จะลดดอกเบี้ยลงตามทันทีหรือไม่ คงเป็นไปตามกลไกราคา ธปท.ไม่สามารถบังคับได้ เพราะแต่ละธนาคารมีโครงสร้างที่แตกต่างกัน