xs
xsm
sm
md
lg

หนทางพิสูจน์ม้า ค่าเงินบาทพิสูจน์คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วีรพงษ์ รามางกูร
ชั่วเวลาเพียงเดือนเดียว ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอยางรวดเร็ว จากที่เคยอยุ่ในอัตรา 29 .50 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ โดยประมาณ เมื่อเดือนที่แล้ว มาถึงวันนี้ เงินบาทมีค่า 31 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ลดลงไปราวๆ 5-6 เปอร์เซ็นต์

สาเหตุก็เพราะเงินทุนต่างชาติที่มาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไหลออกไปเป็นจำนวนมาก จากการเทขยายหุ้นและพันธบัตร ซึ่งทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยถูกถล่มอย่างหนัก จนลดลงไปต่ำกว่า 1,400 จุดแล้ว

ปรากฏการณ์ที่เงินบาทอ่อนเพราะเงินทุนไหลออกเป็นขั้วตรงข้ามสวนทางกับ เงินบาทแข็ง เพราะเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามา ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับทั่วทั้งตลาดในภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ ที่เรียกกันว่า ตลาดเกิดใหม่ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่นายเบอร์นานกี้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ส่งสัญญาณว่า FED จะเลิกอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ หรือที่เรียกกันว่า มาตรการ QE แล้ว ทำให้กองทุนต่างชาติทั้งหลาย ที่ขนเงินดอลลาร์ที่มีต้นทุนถูกๆ มาลงทุนในบ้านเรา และประเทศอื่นๆ แถบนี้ ต้องตั้งหลักใหม่ ด้วยการเทขายหุ้น พันธบัตรทำกำไร เอาเงินกลับบ้านไปก่อน

ปรากฏการณ์ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็วในครั้งนี้ ยังฟ้องว่า ผู้บริหารนโยบายการเงินการคลังของไทย คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งผระเทศไทย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานธนาคารแห่งประเทศไทย นายวีรพงษ์ รามางกูร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ใครที่เป็นมืออาชีพ ยึดมั่นในหลักวิชา หลักการ และผลประโยชน์ส่วนรวม ใครเป็นมือปืนรับจ้าง รับใบสั่งมาบิดเบือนหลักการข้อเท็จจริงเพื่อสนองผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง

สามสี่เดือนที่ผ่านมา ตอนที่เงินบาทมีค่าแข็งขึ้นไปถึง 29 บาทกว่าต่อ 1 ดอลลาร์นั้น แบงก์ชาติถูกประธานแบงก์ชาติและ รัฐมนตรีคลังกล่าวหาว่าเป็นตัวการที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า เพราะไม่ยอมลดดอกเบี้ยนโยบายซึ่งยืนอยู่ในอัตราร้อยละ 2.75 ลงมา ตามความต้องการของนายกิติรัตน์ ข้อกล่าวหานั้นฉกาจฉกรรณ์ถึงขั้นที่ว่าประธานบอร์ดแบงก์ชาติกล่าวว่า แบงก์ชาติจะทำให้เศรษฐกิจฉิบหาย เกิดวิกฤติเหมือนตอนปี 2540

นายวีรพงษ์ซึ่งจะต้องลงจากเก้าอี้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เพราะอายุครบ 70 ปี ในต้นเดือนหน้านี้ ยังปรามาสกรรมการนโยบายการเงินซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยตรงว่า เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ในเรื่องเศรษฐกิจมหภาค เลย จะมานั่งกำหนดนโยบายการเงินได้อย่างไร

ส่วนนายกิตติรัตน์โกหกไม่เป็น บอกว่าคิดจะปลดผู้ว่าแบงก์ชาติทุกวันเพราะไม่ยอมลดดอกเบี้ย

ทั้งนายวีรพงษ์และนายกิตติรัตน์บอกกับสังคมว่า ค่าเงินบาทแข็งเพราะแบงก์ชาติกำหนดดอกเบี้ยสูงกว่าประเทศอื่นๆ จึงทำให้กองทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุน กินส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหวางบ้านเขากับบ้านเรา

ในขณะที่แบงก์ชาติ โดยนายประสารยืนยันและอธิบายกับสังคมบนหลักวิชาการ และข้อเท็จจริงว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่ได้สูงว่าประเทศอื่นๆ ที่มีขนาดและสภาพเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน การที่เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้น เป็นเพราะนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งหมายถึงสหรัฐอเมริกา ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนในประเทศต่ำ นักลงทุนจึงแสวงหาแหล่งทุนในประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งหมายถึงไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ซึ่งมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

อัตราดอกเบี้ยจึงไม่ใช่ปัจจัยที่กำหนดการเคลื่อนย้ายเงินทุน แต่มีมาตรการอื่นๆที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังนำมาใช้ได้ คือการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเงินทุน การเก็บภาษี การกำหนดให้ต้องป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน

ความเห็นของแบงก์ชาติที่ว่า ค่าเงินบาทแข็งไม่ได้เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยแต่เป็นเพราะนโยบาย QE ของสหรัฐฯ ทำให้มีเงินทุนไหลเขามาในตลาดตราสารหนี้ เป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับนักวิชาการและคนที่อยู่ในวงการตลาดทุนตลาดตราสารหนี้

ในขณะที่ความเชื่อของนายวีรพงษ์กับนายกิตติรัตน์ที่ว่าค่าเงินบาทแข็งเพราะ แบงก์ชาติไม่ยอมลดดอกเบี้ย มีแต่รัฐมนตรี และ ส.ส.พรรพเพื่อไทย รวมทั้งคนเสื้อแดงบางกลุ่มที่เชื่อ ถึงขั้นที่ว่ามีความพยายามขนคนไปประท้วงหน้าแบงก์ชาติให้ผู้ว่า ลาออก

หนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของ ธปท. ลงวันที่ 10 มีนาคม 2556 นับได้ว่า เป็นหนังสือที่ปิดปากนายวีรพงษ์ กับนายกิตติรัตน์ได้สนิท เพราะสามารถอธิบายข้อกล่าวหา ที่ทั้งนายวีรพงษ์กับนายกิตติรัตน์โยนใส่แบงก์ชาติมาตลอดปีกว่าๆ ได้อย่างหมดจด

ถึงแม้ว่า ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุด จะมีมติเอกฉันท์ ลดดอกเบี้ยนโยบายลงหนึ่งสลึงจากร้อยละ 2.75 เป็น 2.50 แต่เป็นการลด เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัว กนง. จึงลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่ลดเพราะว่าค่าเงินบาทแข็งและลดเพียงนิดเดียวเท่านั้น

โบราณว่า สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น ข้อกล่าวหาที่นายวีรพงษ์ กับนายกิตติรัตน์ โยนใส่แบงก์ชาติมาอย่างต่อเนื่อง และคำชี้แจงของนายประสารนั้น บัดนี้ ทุกคนก็ได้ประจักษ์ด้วยตัวเอง ด้วยหลักฐาน อันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับค่าเงินบาท ในช่วงสัปดาห์นี้ว่า ใครถูก ใครผิด ใครพูดความจริง ใครโกหก ใครทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา รักษาผลประโยชน์ของชาติ ใครมีวาระแอบแฝงซ่อนเร้น ต้องการยึดแบงก์ชาติให้อยู่ในการควบคุมของตน


กิตติรัตน์  ณ  ระนอง
ประสาร  ไตรรัตน์วรกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น