xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาล VS แบงก์ชาติ สภาวะสวนทางโดยธรรมชาติ!

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

“รัฐมนตรีคลังคนใดไม่ยอมผ่อนผันการใช้งบประมาณตามคำขอของรัฐมนตรีคนอื่นๆ มักจะได้ชื่อว่ามีนิสัยไม่ดี...”

“รัฐมนตรีที่มีนิสัยไม่ดีนั่นแหละคือรัฐมนตรีที่ดี…”


ไม่ใช่ผมพูดหรอกครับ แต่เป็นศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศสผู้แต่งตำราเศรษฐกิจการคลังผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งนาม G.Jeze เป็นวรรคทองที่รู้กันทั่วไป

รัฐมนตรีคลังทั่วโลกจะภูมิใจมากเมื่อได้รับฉายาว่าเป็นรัฐมนตรีมีนิสัยเลว

รัฐมนตรีคลังในอดีตของไทยทั้งไกลและใกล้มักจะมีปัญหากับนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาลที่เข้าไปขอโน่นขอนี่ นายกรัฐมนตรีที่ดีจะสนับสนุนรัฐมนตรีคลังอย่างเต็มกำลัง

รัฐมนตรีคลังคนปัจจุบันของไทยจะเป็นรัฐมนตรีคลังประเภทไหน ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าท่านตำหนิผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยวันละ 3 เวลาหลังอาหาร และท่องคาถาประจำตัวประกอบว่าดอกเบี้ยต้องต่ำ ค่าเงินบาทต้องอ่อน ประหนึ่งกับเป็นยาสารพัดนึกอย่างไรอย่างนั้น

สัปดาห์ที่ผ่านมาไฮไลต์สำคัญหนึ่งของสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ที่วันที่ 29 พฤษภาคม 2556 เป็นวันประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

กนง.มี 7 คน 3 ใน 7 คนมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ คือ ผู้ว่าการฯ และรองผู้ว่าการฯ 2 คน

ถ้าไม่มีประเด็นทางการเมืองและวาระซ่อนเร้นอื่นแล้ว รัฐบาลกับแบงก์ชาติมีความต้องการ “สวนทางกัน” ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ประการด้วยกัน

รัฐบาลต้องการให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และลดในอัตราที่มีนัยสำคัญ คือมากกว่า .50%

1. รัฐบาลนี้ก็เหมือนทุกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่ในโลก คือ หนึ่งไม่รู้ว่าจะอยู่นานแค่ไหน สองจะต้องกลับสู่สนามเลือกตั้ง จึงต้องการ Economic Growth จึงต้องกระตุ้นการลงทุน-การใช้จ่ายเพื่อให้ตัวเลข GDP ดูดี เพื่อคะแนนนิยมทางการเมือง การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายคือมาตรการกระตุ้นการลงทุนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่าย

2. ความเชื่อที่ว่า หนึ่ง ค่าเงินกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีความสัมพันธ์กันโดยตรง ดอกเบี้ยต่ำค่าเงินอ่อน ดอกเบี้ยสูงค่าเงินแข็ง สอง จึงจะมีผลโดยตรงต่อรายได้ของประเทศจากจากการส่งออก

3. ห่วงงบดุลของแบงก์ชาติที่ติดลบอัตราดอกเบี้ยอยู่ 1.75% คือในการดูดซับเงินบาทตลาดในประเทศในขณะนี้แบงก์ชาติจะเสียอัตราดอกเบี้ย 2.75% ให้กับนักลงทุนต่างชาติ 17% ที่อยู่ในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้น ในขณะที่นำเงินดอลลาร์ไปลงทุนได้ 1% เพราะฉะนั้นจึงมีสิ่งที่เรียกว่า Negative Carry อยู่ 1.75% หากลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ตัวเลขนี้ก็จะลดลง ก็ไม่ต้องห่วงมากว่าผลการขาดทุนสะสมในลักษณะนี้ของแบงก์ชาติจะทำให้ทุนติดลบมากๆ จนในที่สุดต้องกลับมาขอเงินรัฐบาล

ในขณะที่ 3 ประเด็นนี้แบงก์ชาติมีเหตุผลที่ยังไม่จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือหากจะลด ก็ต้องลดไม่มาก คือ .25%

1. ภารกิจของแบงก์ชาติไม่ได้มุ่งที่ Economic Growth เพียงประการเดียว หากแต่ต้องการเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะยาวเป็นสำคัญ และผู้บริหารแบงก์ชาติมีวาระอยู่ยาว และไม่ต้องลงสนามเลือกตั้ง จึงไม่ต้องการคะแนนนิยมทางการเมืองแบบฉาบฉวย

2. แบงก์ชาติมีทั้งสถิติแบบจำลอง ที่จะบอกว่า หนึ่ง ความสัมพันธ์ของค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้สัมพันธ์กันโดยตรงคือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อีกมากไม่ใช่ดอกเบี้ยอย่างเดียว สอง รายได้ของประเทศจากการส่งออกก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าเงินอย่างเดียว ค่าเงินอ่อนก็ไม่ได้ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นเสมอไป เพราะปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า

3. ผลขาดทุนของแบงก์ชาตินั้น โดยพื้นฐานที่สุดแบงก์ชาติเชื่อว่าในทางบัญชีไม่ควรบันทึกบัญชี หรือนัยหนึ่ง Mark to Market ในรูปเงินบาท เพราะจุดประสงค์แท้จริงของการถือทุนสำรองระหว่างประเทศก็เพื่อนำไปใช้ในต่างประเทศ คือ นำเข้า ใช้หนี้ต่างประเทศ ซื้อสินค้าและบริการในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นหากแบงก์ชาติจะมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 200,000 ล้านดอลลาร์ ก็คือมูลค่าข้างนอก หนี้ต่างประเทศ สินค้าต่างประเทศ ที่ประเทศนี้สามารถใช้ได้ คือ 200,000 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อมา Mark to Market ในรูปเงินบาท พอบาทแข็งก็ดูเหมือนแบงก์ชาติขาดทุนมากมาย มี 200,000 ล้านดอลลาร์ บาทแข็งจาก 29 เป็น 28 ก็เหมือนเงินหายไปแล้วทันที 20,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ได้หายอยู่ครบ

ในประการที่ 3 นี้คนแบงก์ชาติเปรียบเทียบให้เห็นรูปธรรมที่แปลกประหลาดว่า

เมื่อสหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายไม่ดีในประเทศตนเองที่ส่งผลทำให้ค่าเงินบาทอ่อน กลายเป็นผลขาดทุนมาอยู่ที่แบงก์ชาติไทย

แต่เมื่อแบงก์ชาติไทยดำเนินนโยบายที่ไม่ดีและประเทศไทยได้รับความเสียหายเห็นๆ เหมือนในปี 2540 แบงก์ชาติกลับรวยมาก

เพราะถึงแม้ทุนสำรองระหว่างประเทศจะลดลง แต่วิธี Mark to Market ในรูปเงินบาท แทนที่จะคูณ 25 กลับไปคูณ 52


ตัวอย่างรูปธรรมนี้ทำให้เห็นว่าเวลาพูดว่าแบงก์ชาติขาดทุน มันไม่เหมือนกับบริษัทห้างร้านปกติขาดทุน

มันมีนัยให้ต้องอภิปรายกันมากกว่าปกติ

นี่คือเหตุผลทางบัญชีที่ทางแบงก์ชาติไม่รู้จะพูดจากับใครให้เข้าใจเวลาถูกให้ข่าวง่ายๆ ว่าแบงก์ชาติขาดทุน

ในประการที่ 3 นี้เช่นกัน หากโต้แย้งว่าแบงก์ชาติจะโอดครวญทำไมในเมื่อธนาคารพาณิชย์ยังถูกบังคับให้ Mark to Market สินทรัพย์ทั้งหลายในรูปของเงินบาท ทั้งๆ ที่ความจริงเรื่องนี้มีเหตุผล การที่ธนาคารพาณิชย์ต้องถูกบังคับให้ Mark to Market สินทรัพย์เป็นเงินบาท ก็เพื่อจะได้รู้ว่าธนาคารพาณิชย์มีเครือข่ายในรูปเงินบาท เพราะต้องลงทุนในประเทศในรูปของบาท หรือแม้แต่จะลงทุนข้างนอกเป็นดอลลาร์ก็ต้องใช้บาท ตรงกันข้ามกับแบงก์ชาติที่ไม่มีทางนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปซื้ออะไรในประเทศไทยได้เลย

เหตุผลที่สวนทางกัน 3 ประการนี้ ผมเก็บตกมาจากการประชุมคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา

เหตุผลที่สวนทางกันไม่ใช่วิกฤตอะไรหากแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุด้วยผล

และไม่มีวาระซ่อนเร้น

ล่าสุด กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา .25% รัฐมนตรีคลังแถลงทันทีว่าดี แม้จะช้าไปสักนิด และน้อยไปสักหน่อย

ต้องจับตาดูศึกคู่นี้ต่อไป!
กำลังโหลดความคิดเห็น