“อัมมาร” ชี้มาตรการบังคับต่างชาติซื้อประกันความเสี่ยงแก้ปัญหาบาทแข็ง เพื่อไม่ให้ได้รับผลตอบแทนในเชิงบวก และไม่ให้ได้รับผลกระทบในเชิงลบ เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากที่สุด แต่รัฐบาลจะต้องยอมรับ หากใช้มาตรการแล้วอาจมีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้น
นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวเห็นด้วยกับที่รัฐบาลเตรียม 4 มาตรการไว้ดูแลสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะมาตรการที่ให้นักลงทุนต่างชาติที่นำเงินทุนเข้ามาลงทุนในไทยต้องทำประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อไม่ให้ได้รับผลตอบแทนในเชิงบวก และไม่ให้ได้รับผลกระทบในเชิงลบ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากที่สุด
ทั้งนี้ หากรัฐบาลมองว่าปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรในส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย โดยสนับสนุนให้ดำเนินการทันที จนกว่าสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศจะปรับตัวสูงใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยของไทย เนื่องจากการบังคับให้นักลงทุนต่างชาติทำประกันความเสี่ยง จะทำให้นักลงทุนไม่ได้รับผลกำไรจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีมาตรการดังกล่าวออกมาแล้วสามารถแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทได้ รัฐบาลจะต้องยอมรับหากมีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้น
ส่วนแนวคิดเอกชนให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 1 นั้น มองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2.75 ในปัจจุบัน เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว การที่ธนาคารกลางหลายประเทศดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำ เพราะประเทศเหล่านั้นมีปัญหาเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และไม่มีปัญหาการว่างงาน
นายอัมมาร ในฐานะเป็นอดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมองว่า ที่ผ่านมา กนง.ให้ความสำคัญทั้งเป้าหมายเงินเฟ้อ และสถานการณ์ของอัตราแลกเปลี่ยน โดยอิงกับเงินสกุลภูมิภาคมากกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าจะให้น้ำหนักกับอัตราแลกเปลี่ยนน้อยกว่าเงินเฟ้อก็ตาม แต่มองว่า กนง.ได้พิจารณาผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และตั้งเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนในระยะสั้นให้มีความเหมาะสมกับเศรษฐกิจมาโดยตลอด
ดังนั้น การใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบยืดหยุ่น จึงเหมาะสมกว่าอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ซึ่งเป็นระบบที่เกิดขึ้นก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 เพราะภาคเอกชนจะทำธุรกิจที่อิงอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่จนเกินไป หากมีการเปลี่ยนแปลงจะปรับตัวไม่ทัน
นอกจากนี้ นายอัมมาร ยังเห็นด้วยกับเรื่องอำนาจการปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยมาตรา 28/19 ที่ระบุ การปลดผู้ว่าการ ธปท. จะต้องมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง ทุจริตต่อหน้าที่ หรือบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง เพราะจะทำให้เกิดความสมดุลในการบริหารงาน และไม่ให้การปลดผู้ว่าการ ธปท. ผูกพันกับอำนาจทางการเมือง
สำหรับถานการณ์ค่าเงินบาทวันนี้ (10 พ.ค.) เปิดตลาดอ่อนค่าตามภูมิภาคที่ 29.58 -29.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าสุดที่ 29.63-29.64 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง