แบงก์ชาติ ออกเอกสาร 9 หน้า ชี้แจง 4 ประเด็น ยันทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินประเทศ พร้อมชี้แจงบทบาทการทำงานละเอียดยิบ หลังถูกกระแสการเมือง-เอกชน รุมถล่มหนัก ระบุความอิสระ ธปท. การบริหารค่าเงิน นโยบายดอกเบี้ย และข้อหาบริหารทุนสำรองเจ๊ง หวั่นกระแสข่าวที่บิดเบือนอาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสน และกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ธนาคารกลางของประเทศได้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ ธปท. ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันหลักที่ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศมากว่า 70 ปี หลังจากระยะนี้มีกระแสข่าวตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการทำหน้าที่ดูแลเศรษฐกิจของ ธปท. ซึ่งอาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสน และกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ธนาคารกลางของประเทศได้
ธปท.ชี้แจงประเด็นแรก เรื่องบทบาทหน้าที่และความเป็นอิสระของ ธปท. ว่า ในการพิจารณาตัดสินนโยบายการเงินเพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้นั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาข้อมูลรอบด้านและตัดสินนโยบายในลักษณะมองไปข้างหน้า ไม่ได้มุ่งให้ความสำคัญแต่เฉพาะเงินเฟ้อ แต่ให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจ และคำนึงถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยมุ่งให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องใกล้เคียงศักยภาพ และรักษาสมดุล เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศ
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาและการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยเป็นที่เชื่อถือ และยอมรับ มีความโปร่งใส เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนมีประสิทธิภาพในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
ส่วนประเด็นที่ 2 การดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ในภาวะที่ประเทศหลัก เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ดำเนินนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้นักลงทุนย้ายมาลงทุนในประเทศที่มีการเติบโตดี และให้ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดไปในทิศทางที่สอดคล้องกับภูมิภาค และพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย ก็ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม การฝืนไม่ให้ค่าเงินเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวลดลง เพราะภาคธุรกิจอาจขาดแรงจูงใจในการปรับตัวตามสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้ใช้โอกาสในการลงทุน และปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตอย่างเต็มที่
สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงต้นปีนี้ แม้จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก โดยไตรมาสแรก ทั้งมูลค่า และปริมาณการส่งออกยังขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และจากข้อมูลเบื้องต้นของเดือนเมษายนที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว ธุรกิจที่บริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีก็ยังสามารถรองรับผลจากการแข็งค่าของเงินบาทได้ ทั้งนี้ จากการหารือเพื่อประเมินผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท พบว่าในกรณีเลวร้าย คือ ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วมากต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ถึงแม้จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ปรับลดลงบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับศักยภาพ ซึ่งไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าการแข็งค่าของค่าเงินจะทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงมากถึงขั้นวิกฤตแต่อย่างใด
ส่วนประเด็นที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสถานการณ์ในปัจจุบันอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 ธปท.ขอชี้แจงว่า สถานการณ์ และปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบันแตกต่างกับในช่วงก่อนเกิดวิกฤตครั้งก่อนโดยสิ้นเชิง ซึ่งทำให้โอกาสที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินเช่นในอดีตมีน้อยมาก
ประเด็นที่ 3 การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย ธปท.ขอชี้แจงว่า ดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.75 ไม่ได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และไม่ได้สูงกว่าหลายประเทศที่มีระบบการเงินคล้ายคลึงกับไทย และจากบทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ประชาชนก่อหนี้มากขึ้น และผู้ออมเกิดแรงจูงใจนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่า และปัจจุบัน เริ่มมีสัญญาณความร้อนแรงอยู่บ้าง ทั้งในตลาดหุ้น และตลาดอสังหาริมทรัพย์ตามหัวเมืองใหญ่ ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนยังขยายตัวสูง และหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระยะหลังที่เร่งขึ้นมากมาอยู่ที่ร้อยละ 78 ของ GDP ทำให้การพิจารณาใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือจำเป็นต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อให้สามารถรักษาสมดุลในระบบเศรษฐกิจได้ในระยะปานกลาง และระยะยาว
ประเด็นที่ 4 การขาดทุนจากการดำเนินงานของ ธปท. การขาดทุนจากการดำเนินงานเกิดขึ้นจากการดำเนินการตามพันธกิจของ ธปท. ในการดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตตามศักยภาพได้อย่างยั่งยืน และมีเสถียรภาพ และผลขาดทุนทางบัญชีจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นซึ่งสะท้อนเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี สินทรัพย์ต่างประเทศที่ ธปท. ถือไว้ยังคงมีมูลค่าในสกุลเงินตราต่างประเทศเท่าเดิม แต่เมื่อมีการตีราคาเป็นเงินบาท ก็จะมีมูลค่าที่ลดลง ทำให้เกิดผลขาดทุนทางบัญชี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หลายประเทศในภูมิภาคกำลังประสบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่ ธปท. มีผลขาดทุน แต่หากการดำเนินงานของ ธปท. ยังเป็นที่เชื่อถือ และ ธปท.สามารถอธิบายสาเหตุของการขาดทุนให้สาธารณชนเข้าใจ และยอมรับได้ ผลขาดทุนของ ธปท. ก็จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่น และประสิทธิผลในการดำเนินนโยบายการเงิน ทั้งนี้ ธปท. ตระหนักในภาระการขาดทุนจากการดำเนินงานดังกล่าว ได้วางแนวทางเพื่อลดการขาดทุนดังกล่าว และปรับปรุงฐานะการเงินของ ธปท. ให้เข้มแข็งขึ้น