รอยเตอร์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - อัตราเงินเฟ้อของเงินที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา สวนทางกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมที่กลับยังคงรูดลงติดต่อกันเดือนที่ 14 ตอกย้ำให้เห็นว่าแบงก์ชาติแดนมังกรกำลังเผชิญภาวะหนีเสือปะจระเข้ในการถ่วงดุลระหว่างการเดินนโยบายสนับสนุนการเติบโตกับการใช้มาตรการป้องกันการคุกคามของภาวะเงินเฟ้อ
ในภาวะที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกกำลังซวนเซ ธนาคารกลางจีนจึงมีช่องทางจำกัด ไม่เหมือนกับเกาหลีใต้และออสเตรเลียที่สร้างความประหลาดใจด้วยการประกาศลดดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้
เหตุผลคือ ถ้าลดอัตราดอกเบี้ย ตลาดอสังหาริมทรัพย์แดนมังกรอาจเผชิญภาวะฟองสบู่ แต่ถ้าคุมเข้มดอกเบี้ย ซึ่งก็คือต้นทุนการกู้ยืม ก็อาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มต้นอยู่ในภาวะหยุดชะงักลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่อัตราเติบโตไตรมาสแรกปีนี้ลดลงเกินคาดอยู่ที่ 7.7% จากระดับ 7.9% ในไตรมาสก่อนหน้า
ดังนั้น แทนที่จะเน้นให้ธนาคารกลางใช้มาตรการทางการเงิน ก็มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนจะต้องหันมาออกโรงรับภาระ ด้วยการใช้มาตรการทางการคลังมุ่งผลักดันการใช้จ่ายด้านการปรับโครงสร้างพื้นฐาน มาเป็นตัวส่งเสริมให้เติบโตของเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างยั่งยืน
สือ หงไช่ (Xu Hongcai) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของไชนา เซ็นเตอร์ ฟอร์ อินเตอร์เนชันแนล เอ็กซ์เชนจ์ (ซีซีไออีอี) ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองสำคัญของรัฐบาลแดนมังกร ชี้ว่า จีนไม่สามารถพึ่งพิงธนาคารกลางในการสนับสนุนเศรษฐกิจได้มากนัก แต่รัฐบาลจะหันมาเน้นนโยบายทางการคลังแทนด้วยการเพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการลดภาษี
ในทางกลับกัน นักลงทุนที่เดิมพันว่าจะมีการผ่อนปรนนโยบายดอกเบี้ย ต้องประสบความผิดหวังอย่างแรง หลังจากธนาคารกลางเทขายพันธบัตรระยะ 3 เดือนมูลค่า 10,000 ล้านหยวน (1,630 ล้านดอลลาร์) ในวันพฤหัสบดี (9) ซึ่งเป็นการดำเนินการครั้งแรกนับจากปี 2011 และบ่งชี้ว่า แบงก์ชาติจะพึ่งพิงเครื่องมืออื่นที่ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ย
ขณะที่ไม่ลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติของจีนก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเลือกใช้วิธีคุมเข้มอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ภาคอุตสาหกรรมและบริการ ที่บ่งชี้ว่ากิจกรรมเศรษฐกิจในเดือนที่ผ่านมายังซบเซา
ทั้งนี้ โรงงานจีนเอ่อล้นไปด้วยกำลังผลิตล้นเกินเนื่องจากอุปสงค์ตกต่ำ เพิ่มความกดดันด้านลบต่อราคาผู้ผลิตและฉุดผลกำไรลดตามไปด้วย
ตงหมิง เซี่ย (Dongming Xie ) นักเศรษฐศาสตร์ของโอซีบีซีแบงก์ในจีน ชี้ว่า นโยบายสำคัญอันดับแรกของทางการแดนมังกรคือการปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อจัดการกับปัญหากำลังผลิตล้นเกิน ดังนั้น จุดมุ่งเน้นจึงเปลี่ยนจากนโยบายมหภาคสู่นโยบายจุลภาค โดยเขาคาดหวังว่า นโยบายการเงินจะยังคงเดิม
ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานว่า ราคาผู้ผลิตในเดือนเมษายนลดลง 2.6% นับเป็นการลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 14 และลดแรงกว่าในเดือนก่อนหน้าที่ขยับลง 1.9%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจากราคาผู้บริโภคปรับขึ้นจาก 2.1% ในเดือนมีนาคม เป็น 2.4% เมื่อเดือนที่แล้ว สืบเนื่องจากราคาอาหารแพงขึ้น
นอกจากนี้ โจว ห่าว (Zhou Hao ) นักเศรษฐศาสตร์จากเอเอ็นแซดในเซี่ยงไฮ้ยังคาดว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้อาจเพิ่มขึ้นต่อไปอยู่ที่ราว 3% อย่างไรก็ดี เขาเสริมว่าเป็นที่คาดหมายอย่างกว้างขวางว่า ธนาคารกลางจะคงนโยบายไม่ขยับตัวเรื่องดอกเบี้ยต่อไป โดยอาจเพียงมีการปรับบางอย่างให้เหมาะสมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้