ประชุมบอร์ด กนง. นัดแรกมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ ระบุ ศก.ไทยเติบโตสูงกว่าที่ประเมินเอาไว้เดิม
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมวันที่ 9 ม.ค.2556 (วันนี้) ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของปี 2556 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ทั้งนี้ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อทรงตัว ปรับขึ้นค่าแรงไม่กระทบจนน่ากังวล โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2555 และคาดการณ์ปี 2556 เติบโตสูงกว่าคาดการณ์เดิม
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันนี้ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้ง แนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
เศรษฐกิจโลกในภาพรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน โดยเฉพาะสหรัฐฯและจีน กอปรกับความคืบหน้าในการต่ออายุมาตรการทางการคลังของสหรัฐฯช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้ตลาดการเงินโลกด้วย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรและญี่ปุ่นยังคงอ่อนแอ และคาดว่าต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง สำหรับเศรษฐกิจเอเชียส่วนใหญ่ปรับดีขึ้นจากการใช้จ่ายในประเทศที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นอย่างช้าๆ
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าคาด ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปี 2555 และคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2556 เติบโตสูงกว่าที่คณะกรรมการฯ ประเมินไว้เดิม จากอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือความเชื่อมั่นภาคเอกชน รายได้ภาคครัวเรือน และการจ้างงานสูง รวมทั้งภาวะการเงินที่ผ่อนปรน สินเชื่อขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การส่งออกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวในวงกว้าง และภาคบริการและการท่องเที่ยวขยายตัวดี ส่วนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังทรงตัวใกล้เคียงกับการประชุมครั้งก่อน แต่ต้องติดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบสอง
คณะกรรมการฯ ประเมินว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา มีส่วนสำคัญช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นและอุปสงค์ของภาคเอกชน ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากอุทกภัยและรองรับผลกระทบของเศรษฐกิจโลกได้อย่างน่าพอใจ คณะกรรมการฯ เห็นว่า ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันยังเป็นนโยบายที่เหมาะสมในการสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่ต้องติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากการเร่งตัวของสินเชื่อและหนี้ครัวเรือน รวมทั้งความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดต่อไป จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี