xs
xsm
sm
md
lg

กนง.คงดอกเบี้ย ไม่ห่วงเงินเฟ้อ-ค่าแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กนง.ประชุมนัดแรกของปี 56 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ตามตลาดคาดการณ์ ชี้นโยบายการเงินจำเป็นต้องช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่โลกประสบวิกฤต ระบุไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีกว่าคาด และแรงส่งยังดีต่อในปีหน้า ส่วนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อทรงตัว การปรับขึ้นค่าแรง 300 ไม่กระทบจนน่ากังวล คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 55 และปี 56 สูงขึ้น

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายการเงิน แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งแรกของปี 2556 โดย กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% เช่น เดิม เนื่องจากเห็นว่า ยังเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและเอื้อต่อการขยายตัวในภาวะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท.

"จากการประเมินภาพเศรษฐกิจโดยรวม พบว่า ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นกว่าการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการขยายตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน โดยการผ่านกฎหมายทางการคลังของสหรัฐฯ ทำให้ความเชื่อมั่นในโลกปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจยุโรป และญี่ปุ่นยังอ่อนแอต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการส่งออกที่ค่อยๆ ฟื้นตัว"

โดยเศรษฐกิจไทยใน ไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมา ขยายตัวได้ดีกว่าที่ธปท.คาดการณ์ไว้ และในปี 2556 คาดว่า การขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะยังมีเกิดขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การว่างงานยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายและสินเชื่อยังขยายตัวต่อได้ในระดับสูง ซึ่งจะเป็นแรงวกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยในการแถลงข่าวรายงานนโยบายการเงิน ในวันที่ 18 ม.ค.ที่จะถึงนี้ ธปท.จะมีการปรับขึ้นประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ที่ผ่านมา และประมาณการเศรษฐกิจของปี 2556 เพิ่มขึ้น

ด้านของปัจจัยเสี่ยง กนง.ได้สั่งให้มีการติดตาม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และระบบการเงินไทย จากภาวะการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูงประมาณ 14-16% ต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา และการก่อหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยขณะนี้การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเพื่อการอุปโคบริโภคขยายตัวในระดับที่สูงมาก ขณะที่ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ อาจจะส่งผลต่อตลาดการเงินและการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ในประเทศได้ ขณะที่การเติบโต และความคึกคักในภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยก็เป็นสิ่งที่ กนง.จับตาเช่นกัน

“การดูแลเศรษฐกิจของธปท. จะดูแลทั้งในด้านปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยยังเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะต้องรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก และยังไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม กนง.จะติดตามผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นการขึ้นค่าแรงรอบที่ 2 และทั่วประเทศว่าจะกระทบสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อมากกว่าที่ ธปท.ประมาณการไว้หรือไม่” นายไพบูลย์กล่าวและว่า ธปท.ได้มีการศึกษา และติดตามการปรับตัวของภาคธุรกิจ ใน 7 จังหวัดนำร่องที่ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทในรอบแรก พบว่า ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวที่จะลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพด้วยการใช้เครื่องจักรทดแทนได้ดีในระดับหนึ่ง ทำให้ไม่มีผลกระทบในเรื่องราคา และการเลิกจ้าง แต่สำหรับรอบที่ 2 ทั่วประเทศนั้น ในส่วนของการเลิกจ้าง หรือปิดกิจการของธุรกิจบางประเภทที่ใช้แรงงานจำนวนมาก หรือมีกำไรน้อย และไม่สามารถรับมือกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้คงมีอยู่บ้าง ซึ่งเป็นการปรับตัตามปกติของธุรกิจ

ส่วนเรื่องของการปรับตัวรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ด้วยการผลักภาระให้กับประชาชนโดยขึ้นราคาสินค้านั้น กนง.มีความกังวลในเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ประเมินว่า จะเกิดขึ้นไม่มากนัก ดังนั้น จึงประเมินว่าในส่วนของแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นในระยะต่อไป จากผลของการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศน่าจะมีไม่มาก โดยจะกระทบให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1%.
กำลังโหลดความคิดเห็น