xs
xsm
sm
md
lg

เถ้าแก่แม่สอดอ่วม เจอค่าแรงพุ่งพรวด 2 รอบ 80%-ต้องปิดโรงงานหนีแล้ว 8 แห่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ)แรงงานพม่า บางส่วนที่เพิ่งข้ามฝั่งมาจากเมียวดี เพื่อกลับเข้าทำงานหลังกลับบ้านฉลองปีใหม่ ต้องเดินทางกลับพม่าอีกรอบ หลังโรงงานนายจ้างปิดกิจการหนีค่าแรง 300 บาทต่อวัน
ตาก- เถ้าแก่โรงงานชายแดนแม่สอดกระอัก จาก 1 เม.ย. 55 ถึงวันนี้เจอสั่งปรับค่าแรงขึ้น 2 รอบ รวม 80% จนต้องปิดกิจการแล้ว 8 แห่ง ทิ้งคนงานกว่า 1 พันคนเคว้ง ล่าสุดแรงงานพม่าที่เพิ่งกลับจากฉลองปีใหม่ต้องทำเรื่องผ่านแดนกลับบ้านหนาตาขึ้น

นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวถึงผลกระทบตามมาตรการการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทตามนโยบายรัฐบาลว่า ตั้งแต่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบแรกเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 55 จากวันละ 163 บาท เป็น 226 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 40%

ขณะนี้มีสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบปิดกิจการไปถึง 8 แห่ง ทั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป อิเล็กทรอนิกส์ และหินแกรนิต ฯลฯ มีลูกจ้างตกงานทั้งหมดราว 1,343 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท โดยโรงงานสุดท้ายปิดกิจการไปเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 55 ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 เป็นวันละ 300 บาท

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 เป็นวันละ 300 บาทที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 56 ที่ผ่านมา เป็นการปรับขึ้นอีก 40% รวม 2 ครั้ง จังหวัดตากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า80% นับเป็นภาระหนักมาก หลายรายพยายามปรับตัวและทำทุกวิถีทางเพื่อประคองตัวให้อยู่รอด และรอความหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจับต้องได้มากกว่ามาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้ แต่ช่วยเหลือได้เพียงส่วนน้อยและไม่มีผลอะไรมากนัก

เช่น ลดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจาก 5% เหลือ 4% หรือสนับสนุนวงเงินสินเชื่อให้ผู้ประกอบการกู้ยืมนำมาจ่ายค่าจ้างเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน แต่ข้อเท็จจริงเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการมากขึ้น

ขณะเดียวกัน การเข้าถึงแหล่งทุนก็เป็นไปได้ยาก เพราะหลักทรัพย์ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ถูกใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินอยู่ก่อนแล้ว และเชื่อว่านับจากนี้อีก 2-3 เดือนจะเห็นภาพสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดตากทยอยปิดกิจการเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนเพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 80% ได้ เพราะอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กว่า 90% เป็น SME และกว่า 90% เป็นกิจการประเภทรับจ้างผลิตไม่มีคำสั่งซื้อเป็นของตัวเองจึงใช้แรงงานเข้มข้นมากกว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่น

ประธานสภาอุตฯ ตากกล่าวอีกว่า การเข้ามาตั้งโรงงานในพื้นที่ชายแดนเป็นความหวังหนึ่งของผู้ประกอบการที่จะลดต้นทุนด้านแรงงาน แต่รัฐบาลกลับมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่มีเพียงส่วนน้อยที่พอปรับตัวได้ แนวทางปรับตัวส่วนใหญ่คือ ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำถูกกว่าประเทศไทย เช่น พม่า และกัมพูชา แต่การย้ายฐานไปพม่ายังมีน้อย เพราะความไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน”

ล่าสุดขณะนี้ที่บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ด่านพรมแดนแม่สอด-เมียวดี อ.แม่สอด จ.ตาก ได้มีแรงงานต่างด้าวกะเหรี่ยง-พม่า เดินทางมาขออนุญาตทำบัตรผ่านแดน เพื่อเดินทางกลับพม่าทางด่านเมียวดี ภายหลังเพิ่งเดินทางกลับมาทำงานในฝั่งไทย แต่ปรากฏว่าโรงงานที่เคยทำงานได้ประกาศปิดกิจการไปแล้วโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า หนีผลกระทบการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

กำลังโหลดความคิดเห็น