ธปท.จ่อลดคาดการณ์จีดีพีต่ำกว่า 5% หลังสัญญาณภาวะ ศก. เดือน พ.ค. แผ่วลงต่อเนื่อง ภาคครัวเรือนลดการบริโภคจากภาระหนี้ที่สูง บวกนโยบายกระตุ้นรัฐที่หมดลง
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. เตรียมปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. วันที่ 10 กรกฎาคมนี้ จากเดิมที่คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวร้อยละ 5.1 สาเหตุเนืิองจากมีสัญญาณการอุปโภคบริโภค และการลงทุนในประเทศชะลอตัว รวมทั้งการส่งออกขยายตัวน้อยกว่าที่คาด ประกอบกับเศรษฐกิจจีนเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ กนง.จะนำเข้าไปพิจารณาในการประชุมครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ยังเอื้อต่อการใช้จ่าย
ส่วนการที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนดำเนินการก่อสร้างโครงการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะมีผลให้การก่อสร้างล่าช้าไปประมาณ 2 ปีนั้น ธปท.ก็จะนำประเด็นดังกล่าวเข้ามาพิจารณาด้วย เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลให้ล่าช้าออกไป
นายเมธี กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคม 2556 ชะลอตัวลงตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ส่วนหนึ่งเพราะครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายภาระหนี้ที่สูงขึ้น ประกอบกับแรงกระตุ้นจากนโยบายรัฐทยอยหมดลง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 0.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลของโครงการรถยนต์คันแรกที่ได้ทยอยส่งมอบแล้วเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่การส่งออกหดตัวร้อยละ 5.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน มีมูลค่า 19,494 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากอุปสงค์ในต่างประเทศลดลง และยังเปราะบาง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตร ประมง และอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 7.8 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 3.3 โดยเฉพาะการนำเข้าของอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก
ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงเฉลี่ยอยู่ที่ 30.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตร แต่แนวโน้มในระยะต่อไปเงินบาทยังมีทิศทางผันผวน ดังนั้น ภาครัฐต้องมีการบริหารจัดการและเอกชนต้องจัดการความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง