ผู้ว่าฯ ธปท.ยันความพร้อมรับมือ “เฟด” ปรับนโยบาย “คิวอี” มองทิศทางดอกเบี้ยต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยน ไม่ใช่ปรับแบบกระโดดไป-มา เพราะจะกระทบต่อความเชื่อมั่น เผยทุนไหลออกทำสภาพคล่องส่วนเกินลด เตรียมหาช่องลงทุนติ่มซำบอนด์
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.มีความพร้อมในการรับมือหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเฟดจะยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลงเมื่อใด ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศคงต้องค่อยๆ มีการปรับเปลี่ยน ไม่ใช่ปรับแบบกระโดดไป-มา เพราะจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในธนาคารกลาง
ส่วนในที่ผ่านมาที่เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไทยนั้น สภาพคล่องส่วนเกินได้ลดลงจากระดับ 4.9-5.0 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ระดับ 4.7 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี จากในช่วงที่เศรษฐกิจมีความผันผวนมากในระยะนี้ นักลงทุนควรปรับพอร์ตการลงทุนให้มีความเหมาะสม ขณะที่ ธปท.เองเตรียมพิจารณาโอกาสการลงทุนในพันธบัตรสกุลเงินหยวน (ติ่มซำบอนด์) เพิ่มเติม หากเห็นว่าให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดี
นายประสาร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าสหรัฐฯ จะมีการยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงในเวลาใด แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาต่อประเทศไทย เนื่องจากตลาดพันธบัตรมีขนาดใหญ่มาก และมีการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรราว 8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 12% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวอายุประมาณ 4-5 ปี
ทั้งนี้ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติได้ขายพันธบัตรที่ถือครองไว้ออกไปบ้าง ทำให้สัดส่วนลดลงเหลือ 11% ซึ่งหากเทียบกับขนาดทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่มีอยู่ถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะถือเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก หากต่างชาติขายพันธบัตรออกหมด เงินทุนสำรองก็สามารถรองรับได้ ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นกับภาพรวมระบบเศรษฐกิจอย่างแน่นอน
นายประสาร กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินนโยบายการเงิน มองว่าต้องมีการดำเนินการอย่างรอบคอบ โปร่งใส และมีความระมัดระวัง มีการดำเนินการอย่างช้าๆ ไม่เร่งรีบ ไม่ใช่เป็นการกระโดดไปสุดขั้วแล้วพอสถานการณ์ปรับเปลี่ยนแล้วกลับมาเปลี่ยนนโยบายในทันที เพราะจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง แต่ ธปท.ก็ไม่ได้ประมาท ปัจจุบันมีการเตรียมพร้อมเพื่อรักษาดุลยภาพ เพราะในปัจจุบันตลาดการเงินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดย ธปท.จะไม่ก่อหนี้ต่างประเทศมาก และสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศก็ไม่ได้ให้น้ำหนักไปที่สกุลเงินใดสกุลเงินหนึ่งมากเกินไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระในอนาคต
ช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ดูดซับสภาพคล่องในระบบลดลงบ้าง ทำให้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบลดลงจากจาก 4.9-5 ล้านล้านบาท เหลือเพียง 4.7 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันสำหรับการกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ควรระมัดระวังและตรวจสอบให้ดี เนื่องจากในระยะต่อไปข้างหน้าต้นทุนจะเพิ่มขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงนี้ ส่วนภาคเอกชนจะต้องวางแผนจัดสรรเงินกู้ที่มีเงื่อนไขดีและเหมาะสม เพราะหากกู้เป็นสกุลดอลลาร์มากเกิน เมื่อเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นก็จะทำให้วงเงินกู้สูงขึ้นตามไปด้วย
นายประสาร ระบุอีกว่า ยังสนใจที่จะเข้าลงทุนในพันธบัตรสกุลเงินหยวนของรัฐบาลจีน หรือที่เรียกว่าติ่มซำบอนด์ หากผลตอบแทนใกล้เคียง หรือมากกว่าพันธบัตรของสหรัฐฯ และยุโรป เนื่องจากที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการซื้อลงทุนไปบ้างแล้ว ซึ่งลงทุนดังกล่าวจะช่วยกระจายความเสี่ยงไปยังสกุลเงินที่มีเสถียรภาพอื่นๆ
ส่วนกรณีที่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่อาจต้องใช้ผู้กู้ร่วมถึง 3 คน จากเดิมที่ใช้ 2 คน มองว่าเป็นเรื่องดี เนื่องจากธนาคารมีความใกล้ชิดกับลูกค้าจึงควรพิจารณาว่าจะจัดสรรสินเชื่อมากหรือน้อยเพียงใด และให้เกิดความเหมาะสม โดยหากมีการเทียบกับการวางเงินดาวน์ของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งในบางประเทศต้องวางเงินดาวน์ถึง 30-50% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมด ขณะที่มาตรฐานควรอยู่ที่ 20% แต่ประเทศไทย ได้กำหนดเงินดาวน์สำหรับบ้านแนวราบที่ 5% และคอนโดมิเนียม 10% ดังนั้น การที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้แสวงหากำไรสูงสุด หรือปล่อยสินเชื่ออย่างร้อนแรงเกินไป ก็เป็นเรื่องที่ดี
นายประสาร ยังกล่าวถึงกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยว่า การส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังธนาคารพาณิชย์ยังต้องใช้เวลา แต่ขณะนี้ตลาดการเงินก็ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงบ้างแล้ว เช่น อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลดลง 0.25% ตามที่ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่ประชาชนไม่คุ้นเคย เพราะไม่ใช่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ตามปกติ จึงมองว่า ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ตอบสนองต่อนโยบายการเงิน ประกอบกับตลาดการเงินโลกมีความผันผวน และมีเงินทุนไหลออกไป ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังไม่มั่นใจในตลาดการเงินโลก และอัตราดอกเบี้ยว่าจะเป็นขาลงหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าควรจะต้องติดตามสถานการณ์ไประยะหนึ่งก่อน
ส่วนนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทในช่วงนี้จะมีความผันผวน เอกชน และนักลงทุนต้องมีความระมัดระวังในการไหลเข้าออกของเงิน การเคลื่อนย้ายเงินทุน และการปรับพอร์ตการลงทุนจะรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงจะมีความอ่อนไหวต่อข่าวสาร
โดยเฉพาะในสัปดาห์นี้ ต้องมีการติดตามการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เกี่ยวกับความชัดเจนว่าจะมีการลดมาตรการ QE ลงหรือไม่ เชื่อว่าเฟดจะมีการสื่อสารด้วยความระมัดระวัง และคงจะไม่สื่อสารออกมาในรูปแบบการวิเคราะห์ในทางเดียว ซึ่ง ธปท.ได้เตรียมเครื่องมือในการดูแลของการไหลเข้าออกของเงิน โดย ธปท.จะพยายามดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ค่าเงินบาทจากช่วงต้นปี 56 จนถึงวันที่ 11 มิ.ย. มีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนทั้งแข็งและอ่อนค่า โดยอัตราความผันผวนของค่าเงินบาทเพิ่มขึ้นในอดีตอยู่ที่ 6.40% แต่ยังถือว่าอยู่ในทิศทางเดียวกับภูมิภาค โดยในสกุลเงินเปโซ มีความผันผวนที่ 9.03% ริงกิตของมาเลเซีย ผันผวนอยู่ที่ 8.53% และเงินวอน ของเกาหลีใต้ผันผวนอยู่ที่ 8.55%
ขณะที่การเคลื่อนไหวของเงินบาทช่วง 22 พ.ค.-14 มิ.ย.ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลง 2.49% เนื่องจากมีนักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตร และขายหุ้นไทยออกไปกว่า 9 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง แต่อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ในทิศทางเดียวกับภูมิภาค