“เคทีซี” แจ้งกำไรไตรมาส 2 เท่ากับ 324 ล้าน ซึ่งหากหักภาษีได้รับคืนจากรายการพิเศษของการขายเงินลงทุนแล้วจะมีกำไร 299 ล้าน เพิ่มขึ้น 247% ระบุจากแผนการลดต้นทุน-รุกตลาดด้วยแคมเปญที่ตรงใจ ขณะที่พอร์ตลูกหนี้รวม 44,137 ล้านบาท จากฐานบัตรรวม 2.21 ล้านบัญชี พร้อมเดินหน้าแผนการตลาดออนไลน์ เจาะสมาชิกออนไลน์ และภูมิภาคร่วมกับพันธมิตร และธนาคารกรุงไทย
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC)กล่าวว่า ผลการดำเนินของบริษัทบริษัทในไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิเท่ากับ 324 ล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมรายการพิเศษจากภาษีรับคืน กำไรจะเป็น 299 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 247% จาก 86 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2555 ส่งผลให้กำไรสุทธิรวมครึ่งปีเท่ากับ 746 ล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมรายการพิเศษ กำไรจะเป็น 500 ล้านบาท
ด้านรายได้รวมในไตรมาส 2 อยู่ที่ 3,387 ล้านบาท สูงขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่ 3,085 ล้านบาท โดยที่รายได้ดอกเบี้ยรับ รายได้ค่าธรรมเนียม และรายได้อื่นๆ เท่ากับ 2,073 ล้านบาท 902 ล้านบาท และ 412 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมภาษีเงินได้) เท่ากับ 2,976 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 2,918 ล้านบาท หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเท่ากับ 1,274 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 793 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามการขยายตัวของพอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล และผลกระทบจากการปรับวันสรุปยอดบัญชี (Cycle Cut) ที่เปลี่ยนจากรอบบิลเป็นระบบงวดเดือนในช่วงไตรมาส 1 แต่ในจำนวนนั้นส่วนของการตัดหนี้สูญลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคุณภาพหนี้ดีขึ้น
“ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมสินเชื่อรายย่อยในประเทศไทยมีการแข่งขันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อบัตรเครดิตรวมเติบโตประมาณ 14% ในขณะที่ธุรกิจสินเชื่อบุคคลเติบโตที่ 22% ซึ่งในส่วนของเคทีซี ยังคงทำกำไรได้ต่อเนื่อง และดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จากแผนกลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับปรุงขั้นตอนการทำงานทั้งระบบ และการควบคุมบริหารจัดการหนี้ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างได้ผล อีกทั้งการร่วมกับพันธมิตรการค้า จัดแคมเปญการตลาดสำหรับสมาชิกบัตรเครดิตที่หลากหลาย ในหมวดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน รวมถึงการช่วยลด และแบ่งเบาภาระหนี้ให้แก่สมาชิกสินเชื่อบุคคลอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง”
สำหรับฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2556 สินทรัพย์รวมเท่ากับ 48,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 46,073 ล้านบาท พอร์ตลูกหนี้การค้ารวมสุทธิเท่ากับ 44,137 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 41,557 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ฐานสมาชิกรวม 2.21 ล้านบัญชี ประกอบด้วย บัตรเครดิต 1,587,594 บัตร ยอดลูกหนี้บัตรเครดิตสุทธิ 30,744 ล้านบาท สินเชื่อบุคคล “เคทีซี แคช” เท่ากับ 626,426 บัญชี ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเคทีซี แคช สุทธิ 13,133 ล้านบาท ลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) บัตรเครดิตลดเหลือ 3.3% และ NPL สินเชื่อบุคคลเหลือเพียง 2.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีค่า 4.2% และ 4.1% ตามลำดับ
ด้านค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่อรายได้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 เท่ากับ 36.8% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีค่า 3.1% และจากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งมีค่าเท่ากับ 40.8% เป็นผลจากการใช้กลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน ทั้งนี้ สัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมลดลงเหลือ 26.2% จากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ 33.5% และ 27.1% ตามลำดับ และมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย 13.8% เพิ่มขึ้นจาก 13.2% ณ สิ้นปี 2555
เร่งรุกตลาดออนไลน์
นายระเฑียร กล่าวอีกว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2556 เคทีซี จะใช้กลยุทธ์การตลาดที่มุ่งเน้นคุณภาพ และการบริการที่ดี โดยบัตรเครดิตจะมุ่งขยายช่องทางการรับบัตรเครดิตที่หลากหลาย เพิ่มจำนวนร้านค้าที่ติดตั้งเครื่องรับบัตรเคทีซี และการทำตลาดออนไลน์ เพื่อให้บริการทางการเงินที่สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ออนไลน์ และสมาร์ทโฟนมากขึ้น รวมถึงโปรแกรมการตลาดในเชิงรุกเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วยบัตรเครดิตที่คุ้มค่ากว่าเงินสด ตลอดจนเทคนิคการใช้คะแนนสะสมรูปแบบใหม่ๆ ในการแลกสินค้า และบริการ ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกเปิดใช้บัตร และใช้จ่ายอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนสินเชื่อบุคคล จะเน้นทำการตลาดสินเชื่อพร้อมใช้ “เคทีซี แคช รีโวล์ฟ” เป็นหลัก ซึ่งช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ลูกค้า โดยออกแคมเปญการตลาดที่แตกต่าง และช่วยแบ่งเบาภาระสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการส่งเสริม และสร้างวินัยในการชำระคืน รวมทั้งการสรรหาสมาชิกใหม่ผ่านช่องทางสาขาของธนาคาร และจะกระตุ้นยอดใช้จ่ายของฐานสมาชิกในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยการคัดสรรแคมเปญที่เหมาะกับพฤติกรรมการใช้จ่าย และตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละภูมิภาค