ตรัง - ททท.ชี้ธุรกิจท่องเที่ยวในอนาคตแม้มีการขยายตัวเพิ่มที่น่าพอใจ แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงกระทบหลายด้าน ทั้งเรื่องดินฟ้าอากาศ ประชาคมอาเซียน นวัตกรรมเทคโนโลยี และอีกมากมาย ห่วงผลกระทบที่จะตามมา
วันนี้ (1 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรัง ว่า นายจรัญ ชื่นในธรรม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง เปิดเผยว่า นับจากปลายปี 2555 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องจนถึงช่วงต้นปี 2556 นี้ ต้องยอมรับว่าอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดตรัง มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ แต่เนื่องจากจังหวัดตรัง เป็นหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งในฝั่งทะเลอันดามัน ที่มีสภาพภูมิอากาศที่แปรเปลี่ยนไปตามกระแสลมมรสุมในมหาสมุทรอินเดีย อย่างเช่นในเดือนมิถุนายนนี้ ก็เป็นช่วงที่มีฝนฟ้าตกชุกเกือบทุกวัน ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องยอมปิดกิจการลงชั่วคราวในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว ถือเป็นวิกฤตการณ์หนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากผลกระทบภาวะโลกร้อน เช่น คลื่นยักษ์สึนามิ แผ่นดินไหว ไฟป่า อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ฯลฯ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็ยังเป็นเหตุกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แม้ส่วนใหญ่จะมิได้เกิดขึ้นในประเทศไทยก็ตาม อีกทั้งวิกฤตการณ์ดังกล่าวยังเกิดเหตุขึ้นบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อความเสียหายทั้งด้านชีวิต และทรัพย์สินอย่างมากมาย ส่วนความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชะลอตัวลดลงอย่างมาก ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ซึ่งผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นในครั้งนั้นหลายคนคงยังจำเหตุการณ์กันได้ดี
ขณะเดียวกัน การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ก็เป็นอีกวิกฤตการณ์หนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะจะมีการเดินทางเข้าออกได้อย่างเสรีของประชากรกว่า 600 ล้านคน พร้อมกับการไหลเวียนของแรงงาน การประกอบธุรกิจ และกำแพงภาษี ก็จะเปิดเสรีเช่นกัน จะทำให้การแข่งขันภายในภูมิภาคมีภาวะเข้มข้นขึ้น สำหรับนวัตกรรมเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการส่งเสริมด้านการตลาด และประชาสัมพันธ์ เพราะจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทในการตลาดมากขึ้น และการตลาดออนไลน์ (Social network) ก็จะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นด้วย
พร้อมกันนั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจกลายเป็นวิกฤตการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น ภาวะคุกคามด้านสุขอนามัย โรคระบาด การก่อการร้าย สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม การขาดแคลนแรงงาน ความปลอดภัยในการเดินทาง หรือมาตรฐานของการบริการ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวได้ในอนาคต ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมความพร้อมของตนเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะได้ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนสามารถรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างมืออาชีพ และถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องตื่นตัวกับสภาพแวดล้อม และร่วมมือกันอย่างจริงจัง รวมทั้งเตรียมเครื่องมือที่เหมาะสมต่อกรกับวิกฤตการณ์ให้ดีที่สุด