xs
xsm
sm
md
lg

สนข.หั่นค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงเหลือ 2 บาท/กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
สนข.ปรับค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงเหลือ 2 บาทต่อ กม. หลังผลศึกษาพบผู้โดยสารจะเพิ่มจาก 2 หมื่นเป็น 3 หมื่นคนต่อวัน คาดกทม.-เชียงใหม่เหลือ 1,490 บาท มั่นใจแข่งโลว์คอสต์แอร์ไลน์ได้ ยกตัวอย่างไต้หวันเปิดบริการทำผู้โดยสารสายการบินลดฮวบ รถโดยสารลดถึง 50% เผยค่าโดยสารไทยต่ำสุด ส่วนจีนเฉลี่ยที่ 2.11 บาทต่อกม. “ผอ.สนข.” เผยทยอยส่งผลศึกษา EIA ให้ สผ.แล้ว คาดกลางปี 57 เปิดประมูลคัดเลือกระบบรถได้

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ผลการศึกษาค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงล่าสุดได้ปรับลดจากอัตรา 2.50 บาทต่อ กม.เหลือประมาณ 2 บาทต่อ กม. โดยพบว่าจะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 20,000 คนต่อวันเป็น 30,000 คนต่อวัน โดยในส่วนของการให้บริการจะมีตู้โดยสารชั้นธรรมดาและชั้นธุรกิจ (Business) ที่ค่าโดยสารจะสูงกว่าเพื่อบริการผู้โดยสารอีกกลุ่ม โดยเบื้องต้นรัฐจะรับผิดชอบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งคาดว่ารายได้จากค่าโดยสารจะเพียงพอสำหรับค่าซ่อมบำรุง ค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร โดยจะขาดทุนในช่วงแรกประมาณ 2-3 ปีเท่านั้น

ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารที่ 2.50 บาทนั้นเป็นตัวเลขที่ศึกษาไว้เมื่อปี 2552 ส่วนประมาณการใหม่ค่อนข้างมั่นใจว่าจะไม่ผิดพลาด เนื่องจากระบบรถไฟความเร็วสูงจะสร้างผู้โดยสารเองไม่เหมือนรถไฟฟ้าในเมืองที่พึ่งพาระบบขนส่งอื่นมาป้อนผู้โดยสารให้ โดยตามแผนลงทุนโครงการตาม พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กม. ค่าโดยสารจะปรับเป็น 1,490 บาท, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 256 กม. ค่าโดยสาร 512 บาท, กรุงเทพฯ-หัวหิน 225 กม. ค่าโดยสาร 450 บาท, กรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 221 กม.ค่าโดยสาร 442 บาท

นายจุฬากล่าวว่า หากรัฐลงทุนโครงสร้างจะทำให้สามารถกำหนดค่าโดยสารได้ต่ำลง โดยเมื่อเปรียบเทียบอัตราค่าโดยสารกับรถไฟความเร็วสูงจีนเฉลี่ยที่ 2.11 บาทต่อ กม. ไต้หวันเฉลี่ย 4.14 บาทต่อ กม. ญี่ปุ่นเฉลี่ย 7.80 บาท/10.15 บาทต่อ กม. ซึ่งไทยถือว่าถูกที่สุด และเชื่อว่าจะเป็นโอกาสให้คนไทยได้ใช้บริการมากขึ้นเพราะจะตัดสินใจได้ง่ายมากกว่าอัตราเดิม โดยประเทศไต้หวันจะเป็นตัวอย่างในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงสำหรับไทยได้เพราะไม่เคยมีระบบนี้มาก่อนเหมือนกันไม่เหมือนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี จึงต้องดึงผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย ซึ่งรถไฟความเร็วสูงของไต้หวันมีระยะทาง 345 กม. ใช้เงินลงทุนประมาณ 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 5 แสนล้านบาท เริ่มต้นเอกชนลงทุนทั้งหมด (สัมปทานแบบ BOT) แต่โครงการล่าช้าเพราะต้นทุนค่าก่อสร้างสูงมีภาระดอกเบี้ย จนรัฐบาลต้องเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท ไต้หวัน ไฮสปีด เรล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (THSRC) โดยถือเป็นเงินลงทุนจากรัฐประมาณ 21% ภาคเอกชน79%

โดย THSRC ได้รับสัมปทานเอกชนเดินรถเป็นเวลา 30 ปี และได้รับสัมปทานพัฒนาพื้นที่สถานีเป็นเวลา 50 ปี ซึ่ง THSRC ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้เส้นทางแต่ให้ชำระเงินเป็นรายปีแก่ภาครัฐ 10% ของกำไรก่อนภาษีเพื่อนำไปพัฒนาระบบราง ซึ่งปัจจุบันได้เจรจาขอขยายอายุสัมปทานออกไปอีกเพราะยังมีปัญหาขาดทุนอยู่แม้ว่าหลังเปิดให้บริการจำนวนผู้โดยสารจะเติบโตสูงกว่า 1 เท่า โดยจากปี 2550 มีผู้โดยสาร 15.5 ล้านคน ปี 2551 เพิ่มเป็น 30.5 ล้านคน ล่าสุดปี 2555 มีผู้โดยสาร 44.5 ล้านคน

“ข้อน่าสังเกตคือ หลังจากไต้หวันมีรถไฟความเร็วสูงทำให้การเดินทางเปลี่ยนแปลง จากเดิมมีการใช้รถโดยสารถึง 50% รถไฟ 40% และทางเครื่องบิน 10% โดยรถโดยสารมีผู้โดยสารลดลง 40-50% ส่วนผู้โดยสารสายการบินภายในประเทศลดลงค่อนข้างมากจนทำให้บางสายการบินต้องปิดตัวลง เพราะรถไฟความเร็วสูงมีจุดแข็งและแข็งแกร่งกว่าการเดินทาโดยเครื่องบิน ขณะที่ช่วงเริ่มต้นโครงการไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ก่อสร้างเพราะรัฐบาลจัดหาให้ โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะได้ค่าตอบแทนสูงกว่าราคาตลาด 40% ส่วนปัญหาของเอกชนที่ลงทุนคือการคัดเลือกระบบเพราะจะส่งผลต่อคุณภาพในการให้บริการ ค่าบริหารจัดการ ค่าซ่อมบำรุง ไทยจะคืนทุนและเริ่มมีกำไรปีที่ 22 โดยเชื่อว่าค่าโดยสารของโลว์คอสต์ในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่จะสูงกว่า 2,000 บาท หลักการพัฒนาพื้นที่จะทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อร่วมพัฒนาไปพร้อมกับการก่อสร้าง และเริ่มหารายได้อีก 7 ปีข้างหน้าที่การก่อสร้างแล้วเสร็จได้พร้อมกัน ต้องหารายได้อื่นๆ มาช่วย ซึ่งตามแผนจะมีการพัฒนาพื้นที่ในสถานีและรอบสถานีรัศมี 3 ตร.กม.” นายจุฬากล่าว

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ได้ส่งผลศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้สำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้วเมื่อเดือนกันยายน และภายในเดือนพฤศจิกายนจะส่งผลศึกษา EIA เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมาได้ และคาดว่าจะเปิดประกวดราคางานระบบได้ประมาณกลางปี 2557 โดยวงเงินรวม 4 เส้นทางประมาณ 8 แสนล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น