xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ”หนักใจ สผ.พิจารณา EIA รถไฟความเร็วสูงล่าช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชัชชาติ”ยันรถไฟความเร็วสูงเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำความเจริญสู่ภูมิภาค ดันเปิดประมูลสายแรกปี 57 ตามแผน หนักใจ สผ.พิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมกระทบโครงการล่าช้า ชี้ความจำเป็นเพื่อพัฒนาอนาคตแม้ 3 ปีแรกขาดทุน เร่งพัฒนาเชิงพาณิชย์สร้างมูลค่าเพิ่มในแต่ละสถานี อุดหนุนรายได้ค่าโดยสาร

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังเป็นประมอบรางวัลการประกวดแนวคิดการออกแบบสถานีรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหินซึ่งมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดถึง 179 ชิ้นงานเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมว่า โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมีสัดส่วน 40 % ของวงเงินในพ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทซึ่งถูกคัดค้านมากที่สุด แต่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำความเจริญไปสู่ภูมิภาคและหัวใจของโครงการคือการพัฒนาสถานีรายทาง สร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัดได้ และเป็นทางเลือกในการเดินทางโดยจะต้องวางแผนในการเชื่อมโยงเข้าสู่สถานีเพื่อขนส่งผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวกมากที่สุดซึ่งแผนลงทุน 7 ปี จะช่วยให้เห็นภาพรวมและวางแผนการเชื่อมต่อการเดินทางในทุกระบบเชื่อมโยงกันได้ดีกว่าการทำที่ละโครงการเหมือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ข้อกังวลเรื่องความคุ้มค่าของโครงการนั้น ในการศึกษารายละเอียดจะมีตัวเลขที่เกี่ยวข้องออกมา ในแต่ละเส้นทาง ทั้ง ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR ) ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ว่าเป็นเท่าไร รวมถึงมีรายได้จากค่าโดยสารเท่าไรด้วย ซึ่งจะเป็นส่วนประกอบในกระบวนการพิจารณา ส่วนการลงทุนนั้นต้องเอาตัวเลขผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมาคิดมากกว่า ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับการก่อสร้างถนน เพราะต้องยอมรับว่าในช่วง 3 ปีแรกโครงการขาดทุนแน่นอน เพราะจะมีรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ประมาณ 10-20 % เมื่อเทียบกับรายได้จากค่าโดยสาร แต่หลังจากนั้นการพัฒนาพื้นที่สถานีได้สมบูรณ์แล้ว รายได้รวมจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้แน่นอน

“หลักการออกแบบสถานีนั้นจะนำเทคโนโลยีของรถไฟมารวมกับความเป็นตัวตนของท้องถิ่นและคิดต่อเนื่องกับการเชื่อมโยง หาจุดดึงดูดความสนใจ ซึ่งสถานีจะไม่เน้นความหรูหรา ฟุ่มเฟือย แต่เน้นความพอเพียงของท้องถิ่น โดยใช้บทเรียนจากสถานีแอร์พอร์ตลิ้งค์ที่ออกแบบใหญ่มากแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และต้องควบคุมค่าก่อสร้างให้อยู่ในกรอบวงเงินที่กำหนด โดยในปี 2557 แล้ว จะเร่งผลักดันให้เปิดประกวดราคาก่อสร้าง ให้เป็นไปตามแผน แต่อุปสรรคคือ กระบวนการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ได้ยื่นผลศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลกไปแล้ว และหลังจากนี้จะทยอยยื่น EIA เส้นทางที่เหลือ ส่วนการดำเนินการยืนยันจะต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ โดยจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)กระทรวงการคลัง สำนักงบเพื่อขอความเห็นก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติ”นายชัชชาติกล่าว

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงว่า ได้ส่งผลศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลกให้ สำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไปแล้วเมื่อเดือนกันยายนและภายในเดือนพฤศจิกายน จะส่งผลศึกษาEIA เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ได้ และในเดือนมกราคม 2557 จะส่งรายงานเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ได้ซึ่งเป็นไปตามแผน ส่วนการพิจารณาของ สผ.คาดว่าจะไม่ใช้เวลามากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น