บอร์ด รฟม.นัดพิเศษเห็นชอบประมูลรถไฟฟ้าสีชมพู ยึดแบบ Detail Design โดยแยกประมูลตัวรถก่อน และออกแบบรายละเอียดประมูลงานโยธา เหตุโปร่งใส เปิดให้ผู้รับเหมาแข่งขันได้มากราย เร่งส่งเรื่องไป สศช.และคมนาคมก่อนชง ครม.
นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.วาระพิเศษเมื่อวันที่ 25 กันยายน ได้พิจารณารูปแบบการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี) วงเงิน 58,642 ล้านบาท ระยะทาง 36 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Mono Rail) โดยมีมติเห็นชอบให้ รฟม.ดำเนินการประกวดราคาโดยออกแบบรายละเอียดก่อน หรือ Detail Design และแยกประกวดราคางานระบบ ตัวรถก่อนงานโยธา เนื่องจากการมีแบบรายละเอียดที่ชัดเจนทำให้การดำเนินโครงการมีความโปร่งใสมากกว่าเพราะสามารถควบคุมการก่อสร้างได้ตามแบบที่มี โดยหลังจากนี้จะเร่งเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพูแบบ Detail Design หรือมีการออกแบบรายละเอียดงานโยธาไว้ก่อน ถือว่ามีข้อดีในเรื่องทำให้ผู้รับเหมายื่นแข่งขันในงานโยธาได้หลายรายมากขึ้น ส่วนรูปแบบ Design & Built หรือออกแบบพร้อมก่อสร้างและรวมงานระบบรถกับงานโยธาไว้ในสัญญาเดียวกันนั้นอาจจะมีปัญหาเรื่องผู้รับเหมาเข้าร่วมได้น้อยราย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ให้ รฟม.พิจารณาแนวทางที่เหมาะที่สุด เปรียบเทียบอย่างรอบด้าน โดยการประมูลระบบรถก่อนนั้น สิ่งที่ รฟม.ต้องคำนึงถึงนั้นไม่ใช่ราคารถที่ถูกที่สุด แต่จะเน้นในเรื่องคุณภาพ และระบบการซ่อมบำรุงในระยะยาวด้วย
“รูปแบบ Detail Design ถือว่ามีความโปร่งใสเพราะจะมีการออกแบบรายละเอียดก่อนประมูล ซึ่งเป้าหมายในการดำเนินโครงการให้เลือกแนวทางที่เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งไม่ว่ารูปแบบแยกประมูลหรือรวมแพกเกจก็มีข้อดีข้อเสีย มีความเสี่ยงทั้งนั้น หลักคือต้องดูในภาพรวมการลงทุนตลอดทั้งโครงการทั้งตัวรถ งานก่อสร้าง งานบำรุงรักษา คงไม่แยกดูเป็นส่วนๆ ไม่ได้กรณีรวมประมูลระบบรถและงานโยธา เป็นเทิร์นคีย์หรือ Design & Built จะมีมุมที่ต้องวิเคราะห์คือ ผู้รับเหมาต้องไปจับมือกับผู้ผลิตรถที่มีไม่กี่ยี่ห้ออาจจะทำให้การแข่งขันไม่เต็มที่ แต่ถ้าประมูลตัวรถก่อนส่วนงานโยธาประมูลทีหลัง แบบนี้ผู้รับเหมาก็อาจจะเข้าประมูลได้มากรายขึ้นเพราะไม่ต้องไปจับมือกับผู้ผลิตรถ การแข่งขันจะเปิดกว้างขึ้น ซึ่งสายสีชมพูอยู่ใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทด้วย” นายชัชชาติกล่าว
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวว่า วิธีออกแบบรายละเอีดยหรือ Detail design งานโยธาจะมีความชัดเจนแม่นยำในการดำเนินโครงการที่ต้องใช้เงินจาก พ.ร.บ.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องสามารถชี้แจงได้ทุกประเด็นปัญหา แม้ว่าก่อนหน้านี้ รฟม.เคยตกลงแล้วว่าจะใช้วิธีออกแบบพร้อมก่อสร้าง หรือ Design & Build เพราะเห็นว่าเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ดี คือสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้ตามปัจจัยหลากหลายที่อาจเจอระหว่างการทำงาน แต่เพื่อให้ง่ายต่อการชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน
สำหรับการแบ่งสัญญางานโยธาสายสีชมพูนั้น รฟม.ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยขณะนี้มีหลายตัวเลือกให้พิจารณา ซึ่งเรื่องนี้ยังรอได้เพราะต้องประกวดราคาระบบกับตัวรถให้เสร็จสิ้นก่อนจึงจะทราบว่างานโยธาควรออกมาในรูปแบบใด พร้อมยอมรับว่าสายสีชมพูมีความล่าช้ากว่าสายทางอื่นเพราะใช้ระบบรถรางเดียว (Mono Rail) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย ประกอบกับโครงการใช้เงินจาก พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทด้วย จึงต้องมีความรอบคอบในการวางแผนงานมากเป็นพิเศษ
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะกรรมการบอร์ด รฟม.กล่าวว่า หากแยกประมูลระบบรถก่อนแล้วออกแบบงานโยธาเพื่อประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างภายหลัง เชื่อว่าจะทำให้มีผู้รับเหมาเข้ายื่นแข่งขันได้จำนวนมากและทำให้ค่าก่อสร้างถูกลง โดยจะต้องเขียนทีโออาร์การประมูลงานระบบรถว่าผู้ได้รับคัดเลือกต้องรับผิดชอบการเชื่อมระบบรถกับโครงสร้างโยธาด้วย ซึ่งรูปแบบนี้คาดว่าจะนำมาใช้ในการประมูลรถไฟความเร็วสูงด้วย