“ชัชชาติ” สั่งทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมก่อสร้างโครงการใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท สำรวจความต้องการใช้วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างและแรงงาน ไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลน พร้อมเตรียมตั้งสำนักงานบริหารโครงการเงินกู้ ทำหน้าที่เร่งรัดและชี้วัดความสำเร็จโครงการ เผยรับทุกข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์มาปรับปรุง ยอมรับหนักใจโครงการปากบาราเหตุยังติดสิ่งแวดล้อม
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ว่าหลังจากร่างผ่านการพิจารณาของสภาแล้ว ล่าสุดได้เชิญหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านลานบาท ซึ่งจะมีกระบวนการเพิ่มจากการดำเนินงานปกติโดยทุกโครงการจะต้องเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงคลัง และสำนักงบประมาณ
พร้อมกันนี้จะมีการตั้งสำนักงานบริหารโครงการใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทขึ้น เป็นลักษณะ Project Management ภายใต้กระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่ดูแลโครงการใหญ่ โดยอาจจะประสานกับองค์กรระดับโลก เช่น ธนาคารโลก หรือเอดีี ที่มีประสบการณ์ในการทำตัวชี้วัดการดำเนินโครงการใหญ่เข้ามช่วย โดยสำนักงานที่จะตั้งขึ้นมีหน้าที่เร่งรัดการทำงานแต่ละโครงการและประเมินผลว่าได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ เบื้องต้นมีปลัดกระทรวงคมนาคมป็นประธาน และจะมีหน่วยงานของกระทรวงร่วม โดยช่วงแรกตั้งเป็นคณะทำงานก่อน หลังกฎหมายผ่านแล้วจะตั้งเป็นสำนักงานต่อไป
ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นั้นยินดีที่จะนำมาปรับปรุง เช่น ที่ปรึกษาแต่ละโครงการซึ่่งได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งจะมีการดำเนินงานพร้อมกันหลายโครงการ อาจไม่ต้องจ้างเป็นที่ปรึกษารายโครงการ แต่ปรับเป็นจ้างวิศวกรประจำไว้และใช้ร่วมกันในหลายโครงการ ส่วนการที่ระบุว่ามีเม็ดเงินในการซื้อรถไฟฟ้า ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศมากนั้น ยืนยันว่า เงินส่วนใหญ่ลงทุนในงานก่อสร้างโครงสร้าง ไม่ใช่การซื้อรถไฟฟ้าจากต่าประเทศ ซึ่่งในส่วนของงาสระบบรถนั้นจะมีเม็ดเงินประมาณ 10-15% ของมูลค่าแต่ละโครงการ ส่วนรถไฟความเร็วสูงจะมีสัดส่วนประมาณ 30% เท่านั้น
ส่วนข้อกังวลเรื่องความโปร่งใสนั้นได้ให้ทุกหน่วยงาน สำรวจตัวเองเพื่อทบทวนปัญหาในการดำเนินโครงการที่ผ่านมาของแต่ละหน่วยงาน ว่ามีช่องโหว่ตรงจุดใดบ้างหรือมีประเด็นไหนที่มักถูกตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส เช่น กรมเจ้า่ทา ถูกมองในเรื่องการวัดปริมาณขุดลอกว่าไม่โปร่งใส เป็นต้น โดยให้สรุปและเสนอวิธีการปรับปรุงว่าจะดำเนินการโครงการใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านนอย่างไรมาด้วย โดยเห็นว่าการที่ระบุว่าประเทศไทยมีคอร์รัปชันไทยสูงนั้น ต้องมองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ พ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท แต่อยู่ที่วิธีการที่ต้องปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้ดีขึ้น การคิดราคากลาง การเปิดเผยราคากลาง กรณที่ พ.ร.บ.ผ่านไปแล้ว ไม่ใช่จะสบายใจแต่ยิ่งหนักใจขึ้นเพาะมีงานหนักคือต้องพิสูจน์ตัวเอง ดังนั้นจึงกำชับใหยึดหลักโปร่งใส ซื่อสัตย์ ยุติธรรม และถ้าทำสำเร็จจะยกระดับการจัดซื้อจัดจ้าง ของกระทรวงและของประเทศได้ในระดับหนึ่ง โดยในเร็วๆ นี้จะนัดหารือร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อรับฟังความคิดเห็นด้วย โดยยอมรับว่าเป็นกังวลโครงการที่มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา และโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ถูกมองในเรื่องความคุ้มค่า
นอกจากนี้ ได้ให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ร.ฟ.ท. และรฟม.สำรวจข้อมูลในเรื่องปริมาณการใช้วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร และแรงงานเพื่อทำแผนเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้าไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนเมื่อต้องลงมือก่อส้างจริง ซึ่งจะทำให้โครงการสะดุดและไม่แล้วเสร็จตามเป้ามายได้