ครม.รับทราบแนวเจรจาสัญญาเดินรถสายสีม่วง ตั้งกรอบค่าระบบรถไฟฟ้าทั้ง 63 ตู้ที่ 4,841 ล้านบาท มอบคณะ กก.มาตรา 13 ฯ พ.ร.บ.ร่วมทุน 35 เจรจา BMCL “ชัชชาติ” ลั่นไม่ตกลง เตรียมเรียกราย 2 คือ BTS เจรจาตามเงื่อนไขทีโออาร์ วงในเผย BMCL แบไต๋รับราคาแล้ว คาดชง ครม.ไฟเขียวเซ็นสัญญาครั้งหน้า วงเงินโครงการรวมลดจาก 83,310 ล้านบาทเหลือ 82,625 ล้านบาท
นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม. ฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอให้พิจารณาวงเงินค่างานระบบรถไฟฟ้าสัญญาที่ 4 ในรูปแบบ PPP-Gross Cost (สัมปทานสำหรับการลงทุนการจัดหาระบบรถไฟฟ้าการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ วงเงิน 4,841 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 พิจารณาว่าเป็นวงเงินที่เหมาะสม โดยให้แจ้งทางบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ผู้เสนอราคาต่ำสุดไปพิจารณาปรับลดค่างานดังกล่าวให้อยู่ภายใต้กรอบวงเงินที่ระบุไว้ จากนั้นจึงเสนอกลับมาให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ครม.พิจารณากรอบค่างานระบบรถไฟฟ้า ซึ่งคณะกรรมการมาตรา 13 ฯ เสนอราคาประมาณ 76.8 ล้านบาทต่อคัน (สำหรับจัดหาขบวนรถไฟฟ้า 21 ขบวนหรือ 63 ตู้) ซึ่งเป็นกรอบที่ ครม.เคยรับทราบไว้ตั้งแต่ปี 2553 โดยเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสมและรับได้ ซึ่งหากเจรจากับ BMCL แล้วเอกชนไม่ตกลงให้ยกเลิกและดำเนินการตามทีโออาร์ประมูล เช่น เรียกผู้เสนอราคาอันดับ 2 มาเจรจา หากเอกชนรับได้ให้เสนอ ครม.พิจารณากรอบวงเงินโครงการรวมอีกครั้ง พร้อมกับเงื่อนไขสัญญาต่างๆ ที่จะมีการลงนามกัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า การกำหนดกรอบราคาครั้งนี้เป็นการเจรจาปรับลดราคาลงจากเดิมที่กำหนดค่างานระบบขบวนรถไว้ที่ 5,296 ล้านบาทลงมาเหลือ 4,841 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการตามมาตรา 13 ได้ไปเจรจากับ BMCL แล้ว ซึ่งทางเอกชนได้รับราคาแล้ว โดยการปรับลดราคาค่างานระบบรถไฟฟ้าดังกล่าวส่งผลให้วงเงินโครงการรวมทั้งหมดลดลงจากเดิมที่ 83,310 ล้านบาท เหลือ 82,625 ล้านบาท
ครม.ยังเห็นชอบให้คณะกรรมการตามมาตรา 13 ไปเจรจากับ BMCL พิจารณาปรับร่างสัญญาตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมสนับสนุนข้อมูลเพื่อประกอบการเจรจา โดยขั้นตอนการพิจารณาปรับร่างสัญญาดังกล่าวต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อภาครัฐและความเป็นธรรมต่อคู่สัญญาด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังได้เห็นชอบให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ สัญญาที่ 5 ช่วงเตาปูน-บางซื่อ 1 สถานี ในรูปแบบ PPP Net Cost เหมือนสัมปทานสายสีน้ำเงิน (เฉลิมมหานคร) โดยให้เอกชนจัดเก็บค่าโดยสารแล้วจ่ายค่าสัมปทานคืนให้รัฐก่อน หากไม่สำเร็จให้ดำเนินการในรูปแบบ PPP Gross Cost เหมือนรถไฟฟ้าสายสีม่วง คือเอกชนจัดหาระบบและรถไฟฟ้ามารับจ้างวิ่งโดยรัฐเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร ให้คณะกรรมการตามมาตรา 13 รับไปพิจารณา พร้อมทั้งให้กระทรวงคมนาคมแยกการนำเสนอเรื่องงานสัญญาที่ 5 ออกจากการพิจารณาผลเจรจาต่อรองกับ BMCL ในสัญญาที่ 4 เดินรถสายสีม่วง