สนข.เคลียร์ 3 ปมทำรถไฟฟ้าสายสีชมพูอืดและค่าก่อสร้างเพิ่ม เผย รฟม.แจงเหตุขยายพื้นที่ศูนย์ซ่อมจาก 80 ไร่เป็น 200 ไร่ และซอยสถานีเพิ่มอีก 8 สถานีเพื่อความสะดวก พร้อมสั่ง รฟม.ทำรายละเอียดแจง สศช., สำนักงบและคลัง ใช้วิธี Design & Built ประมูลงานระบบ และโยธาเป็นสัญญาเดียวเพื่อประหยัดงบและรวดเร็ว เหตุสีชมพูเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Mono Rail) คาด 1 เดือนสรุปเสนอ ครม.อนุมัติประมูล
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี) วงเงิน 58,642 ล้านบาทว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดสาเหตุที่ทำให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต้องขอขยายวงเงินโครงการเพิ่มในประเด็นการขยายพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงจาก 80 ไร่เป็น 200 ไร่ ซึ่งจากการพิจารณาแล้วเห็นว่าการขยายพื้นที่ศูนย์ซ่อมมีความจำเป็น เนื่องจาก รฟม.ต้องขยายพื้นที่เพื่อเชื่อมกับถนนร่มเกล้าและถนนรามคำแหง และการเพิ่มสถานีอีก 8 สถานีจากแบบเดิมมี 20 สถานีเพื่อให้แนวสายทางช่วงระหว่างรามอินทราไปมีนบุรี และบริเวณถนนแจ้งวัฒนะมีสถานีย่อยเพิ่มโดยจะมีผลต่อค่าก่อสร้างเพิ่มและจะต้องมีการแก้ไขรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติม โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือนจึงสามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโครงการได้
นอกจากนี้ ประเด็นที่ รฟม.ขอดำเนินการเปิดประกวดราคาโดยใช้รูปแบบ Design & Built หรือออกแบบพร้อมก่อสร้าง เนื่องจากสายสีชมพูเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Mono Rail) ซึ่งแตกต่างจากโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ซึ่งผู้รับเหมาที่ได้รับคัดเลือกจะต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องระบบ ตัวรถ และงานโยธา เพื่อความรวดเร็วและประหยัดค่าก่อสร้าง ซึ่งการก่อสร้างแบบ Design & Built จะมีขั้นตอนทางกฎหมายเพราะค่าก่อสร้างสูงกว่าโครงการที่มีแบบก่อสร้างโดยละเอียดแล้ว (Detail Design) โดย รฟม.ต้องส่งหนังสือแสดงรายละเอียดและเหตุผลไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลังให้ตรวจสอบก่อนเสนอ ครม.พิจารณา
“สาเหตุที่ทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูต้องล่าช้าหลักๆ มี 3 เรื่อง ซึ่งกรณีขยายพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงจากเดิม 80 ไร่เป็น 200 ไร่นั้น จากเหตุผลที่ รฟม.ชี้แจงมาเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา ส่วนการเพิ่มสถานีอีก 8 สถานีเป็นการซอยสถานีตามแนวสายทางเดิมให้มากขึ้น เพื่อให้มีความสะดวกแก่ผู้โดยสาร ส่วนการใช้วิธี Design & Built ต้องแสดงเหตุผลที่ชัดเจน ซึ่ง รฟม.อยู่ระหว่างทำรายละเอียดเสนอไปยัง สศช., สำนักงบและคลัง เพราะรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความพิเศษตรงที่เป็น Mono Rail ที่ผู้เสนองานระบบต้องหาผู้ร่วมทุนเพื่อก่อสร้างงานโยธามาพร้อมกันเลย ซึ่งจะทำให้งานระบบ ตัวรถ และโยธาเป็นสัญญาเดียวกัน โดยต้องประมูลให้จบก่อนจึงจะรู้ว่าใช้ระบบไหนถึงจะออกแบบงานโยธาให้เข้ากับระบบ ดังนั้นเขาจึงออกแบบก่อนไม่ได้ ส่วนงานเดินรถจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยหลังจากเสนอ ครม.และได้รับความเห็นชอบสามารถเปิดประมูลได้เลย” นายจุฬากล่าว