ส.ส.เพื่อไทยหอบข้อมูลพบ “ชัชชาติ” บีบ รฟม.ปรับแนวรถไฟฟ้าสีชมพู ขณะที่บอร์ด รฟม.ยันเดินหน้าตามแผนแม่บท ยึดแนวเดิม จากศูนย์ราชการนนทบุรีสิ้นสุดที่ตลาดมีนบุรี หวั่นล่าช้า ส่วนข้อเสนอปรับแนวตั้งคณะทำงานศึกษาเพิ่มเติม ด้าน “ชัชชาติ” เร่งสรุปข้อมูลเสนอ ครม.พิจารณา ตั้งเป้าต้องประมูล ก.พ. 56 ให้ได้ตามแผน
น.ส.รัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 58,624 ล้านบาท ตามแนวเส้นทางในแผนแม่บท มีจุดเริ่มต้นจากสถานีศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีใกล้แยกแคราย ถนนติวานนท์ เลี้ยวเข้าถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา ไปสิ้นสุดปลายทางที่สถานีมีนบุรี ส่วนกรณีที่มี ส.ส.ในพื้นที่เสนอให้เส้นทางไปตามแนวถนนสุวินทวงศ์แทนตลาดมีนบุรีนั้น บอร์ดได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว โดยหลักการจะต้องดูแลประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการ พร้อมกันนี้จะสรุปความเห็นของ รฟม.ทั้งหมดเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาต่อไป
“รฟม.ยืนยันดูแลประชาชนทุกคนตามนโยบายการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า แต่การยึดตามแผนแม่บทเดิมเพื่อไม่ให้โครงการเกิดความล่าช้า ส่วนการให้บริการประชาชนในแนวถนนสุวินวงศ์นั้น มีหลายแนวทาง เช่น เพิ่มเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) ระยะทาง 36 กิโลเมตร เป็นฟีดเดอร์เชื่อมต่อกับสายสีชมพู เป็นต้น” น.ส.รัชนีกล่าว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะรวบรวมข้อมูลและความเห็นจาก รฟม. และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งจะเร่งหาข้อสรุปเนื่องจากตามแผนจะต้องเปิดประกวดราคาก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธุ์ 2556 นี้ ส่วนกรณีที่มี ส.ส.ในพื้นที่เสนอให้ปรับจากที่สิ้นบริเวณตลาดมีนบุรีไปตามแนวถนนสุวินทวงศ์แทนนั้นเป็นเรื่องเทคนิคที่ปรับแก้ได้ เนื่องจากสายสีชมพูใช้รูปแบบการก่อสร้างจะเป็นการออกแบบไปพร้อมกับการก่อสร้าง (Design & Build) ซึ่งการตัดสินใจจะยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมาพบนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม นำข้อมูลเรื่องขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูไปสุวินทวงศ์แทนมีนบุรี ซึ่ง รมว.คมนาคมได้รับข้อมูลดังกล่าวไว้ศึกษาข้อดี-ข้อเสียแล้ว