ผลพวงแฉล็อกสเปก TOR รถเมล์ NGV สะเทือนค่ายรถญี่ปุ่นรายใหญ่ เร่งหาทางออกหวั่นเสี่ยงถูกตรวจสอบเรื่องใช้แชสซีส์รถบรรทุกมาดัดแปลง จับตา ขสมก.ยื้อเวลาเอื้อประโยชน์ ขณะที่ค่ายรถเกาหลีดอดคุยขอเอี่ยวยื่นแบบถูกเงื่อนไข ด้านอนุฯ ป.ป.ช.ยันราคากลางประมูลรถเมล์ NGV ยังไม่ชัดเจน สับ ขสมก.ไม่โปร่งใส เสนอให้ปรับเพื่อได้ของดี มีคุณภาพ ด้าน ขสมก.ประกาศ TOR ขึ้นเว็บครั้งที่ 5 คาดครั้งสุดท้าย
แหล่งข่าวในวงการผู้ผลิตรถเปิดเผยว่า หลังจากมีการประชาพิจารณ์ในเรื่องการล็อกสเปกเพื่อให้นำแชสซีส์รถบรรทุกมาดัดแปลงในโครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท ล่าสุดทางค่ายรถรายใหญ่ของญี่ปุ่นซึ่งมีกระแสข่าวว่าจะได้รับสัญญาในส่วนของรถโดยสารธรรมดา 1,659 คันไปทั้งหมดนั้น ได้มีการประชุมด่วนเพื่อประเมินสถานการณ์ หาทางออก และอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนติดตั้งเครื่องยนต์ CNG ในรถโดยสารของแท้แทน ซึ่งจะใช้เวลามากขึ้นอีก 1-2 เดือน และส่งผลให้ต้นทุนตัวรถเพิ่มอีกประมาณ 2 แสนบาทต่อคัน ซึ่งจะต้องจับตาดูว่าในส่วน ขสมก.จะมีการขยายเวลาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้หรือไม่ โดยล่าสุดได้เลื่อนการประมูลออกไปเป็นเดือน ม.ค. 57 และในขณะเดียวกัน ในแวดวงผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ให้ข้อมูลว่า มีค่ายรถรายใหญ่จากเกาหลีเข้ามาเพื่อขอแบ่งสัญญารถร้อนแล้ว เพราะในส่วนของ ขสมก.คงจะไม่มีแก้ TOR แน่นอน เพราะกำหนดโดยอ้างอิงกฎหมายของกรมการขนส่งทางบก
ด้านนายไพโรจน์ วงศ์วิภานันน์ ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดศึกษาเฝ้าระวัง โครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 3,183 คัน กล่าวว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมได้รับทราบการทำงานและข้อคิดเห็นของอนุฯ ป.ป.ช.ในโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งเป็นความเห็นที่อนุฯ ป.ป.ช.ได้เสนอไปยังคณะกรรมการร่าง TOR แล้วว่าไม่เห็นด้วยในเรื่องอะไรบ้าง เช่น การกำหนดราคากลาง รถธรรมดา 3.8 ล้านบาท/คัน รถปรับอากาศ 4.5 ล้านบาท/คัน ว่ามีที่มาและรายละเอียดไม่ชัดเจน, ควรกำหนดให้มีรถขนาด 10 เมตรเพิ่มเติมเพื่อหมุนเวียนการใช้งานได้อย่างเหมาะสมและทำให้ประหยัดวงเงินจัดหาได้ถึง 25-30% คิดเป็นเงินหลายพันล้านบาท
“ในส่วนของ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ยังไม่เคยมีมติเห็นด้วยใดๆ กับโครงการ และต้องยอมรับว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย ป.ป.ช.เน้นไปที่เรื่องงานประมูลก่อสร้างว่าจะต้องมีรายละเอียดของต้นทุนชัดเจน แต่เรื่องซื้อรถเมล์ไม่มีจึงกลายเป็นช่องว่างจึงกำหนดราคากลางทั้งคัน ประเด็นสำคัญที่เป็นหัวใจคือราคากลางกำหนดไม่ชัดเจนเพราะในหลักต้องนำเข้าแชสซีส์ และเครื่องยนต์มาประกอบในประเทศ โดยคิดภาษีและกำไร ซึ่งอนุฯ ป.ป.ช.แนะให้ กก.ร่าง TOR ควรให้ผู้เสนอราคาแยกต้นทุนแชสซีส์ เครื่องยนต์ ตัวถัง เพื่อจะได้รู้ราคาขายที่เหมาะสมที่สุด ราคากลางที่ ขสมก.เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และยึดถือมาตลอดว่าถูกต้องนั้น ในความเป็นจริง ขสมก.บอกรายละเอียดไม่ได้เลย แต่เมื่อถูกตั้งข้อสังเกตได้อ้างว่าถามมาจากเอกชน โดยใช้วิธีส่งหนังสือไปสะท้อนถึงวิธีการทำงานที่ไม่โปร่งใส ไม่เป็นมืออาชีพตั้งแต่แรก” นายไพโรจน์กล่าว
โดยอนุฯ ป.ป.ช.ได้เสนอให้ระบุเป็น Original Design และให้เปลี่ยนวิธีการประมูลเป็นแบบทั่วไป หรือวิธีพิเศษที่พิจารณาจากข้อเสนอคุณสมบัติและราคา เป้าหมายเพื่อให้ได้รถที่มีคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมา ขสมก.ไม่สามารถชี้แจงข้อกังขาใดๆ ที่อนุฯ ป.ป.ช.ให้ความเห็นไปได้ รวมถึงไม่มีการปรับ TOR ให้มีความชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ ขสมก.ได้ประกาศร่าง TOR โครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท ผ่านเว็บไซต์เพื่อรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนการประกวดราคาด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชัน) ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 15-18 ตุลาคม 2556 โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ จาการประกาศครั้งที่ 4
โดยนายอรุณ ลีธนาโชค ผู้จัดการโรงงาน บริษัท ธนบุรี บัส บอดี้ จำกัด กล่าวว่า ได้ส่งความเห็นประชาวิจารณ์ร่าง TOR โครงการจัดซื้อรถโดยสาร NGV จำนวน 3,183 คัน โดยย้ำประเด็นเกี่ยวกับแชสซีส์ในข้อ 2.3 (หน้า 31) และข้อ 2.3 (หน้า 36) “โครงแชสซีส์ต้องเป็นโครงแชสซีส์ใหม่ไม่เคยใช้งานมาก่อนทำด้วยโลหะแข็งแรง โดยเป็นแชสซีส์ที่ได้รับการออกแบบจากผู้ผลิตให้เป็นแชสซีส์รถโดยสาร และมีมาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด และจะต้องได้รับอนุญาตหรือความเห็นชอบให้เป็นแชสซีส์รถโดยสารจากกรมการขนส่งทางบกก่อนการส่งมอบรถโดยสาร” ซึ่งสรุปยืนยันไม่มีการเปลี่ยนแปลงร่างคุณลักษณะของแชสซีส์ที่ใช้ยื่นเสนอราคาในโครงการนี้
การไม่กล้ากำหนดว่า “โครงแชสซีส์ต้องเป็นโครงแชสซีส์ที่มีพื้นฐานการออกแบบให้เป็นแชสซีส์รถโดยสาร ไม่ได้เป็นโครงแชสซีส์ดัดแปลงจากรถบรรทุก ต้องเคยมีผลงานการใช้งานมาก่อนทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ” เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่จะยื่นเสนอราคาโดยใช้โครงแชสซีส์ดัดแปลง และการกำหนดให้คุณลักษณะของโครงแชสซีส์ให้เป็นไปตามการประชาพิจารณ์นั้นก็ไม่ได้เป็นการล็อกสเปก หรือเอื้อประโยชน์ให้ผู้ใดทั้งสิ้น เป็นการกำหนดตามมาตรฐานสากล และเป็นผลดีต่อประชาชนผู้เสียภาษี ทั้งความคุ้มค่าและความปลอดภัย การกำหนดคุณลักษณะของแชสซีส์ในการจัดซื้อรถโดยสารของ ขสมก.ในอดีตที่ผ่านมาก็มักกำหนดว่าจะต้องมีผลงานการใช้งานมาก่อน ก่อนหน้าที่ร่าง TOR ฉบับแรกจะออกสู่สายตาประชาชนได้มีการบอกกล่าวให้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรรมการร่าง TOR ทราบ แต่คำตอบที่ได้รับคือ การกำหนดให้ต้องเป็นแชสซีส์รถโดยสารแท้ๆ ห้ามใช้แชสซีส์ดัดแปลง เป็นการล็อกสเปก ไม่ให้โอกาสแก่รถแชสซีส์ดัดแปลง
โดยจากคำประชาพิจารณ์ร่าง TOR ทั้ง 4 ฉบับ ทำให้ผู้ประกอบการรายนั้นจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการ โดยจะยื่นเอกสารขอนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อประกอบแชสซีส์รถยนต์โดยสารต่อกรมศุลกากร เป็นการประกอบแชสซีส์รถโดยสารรุ่นใหม่ที่ไม่มีการผลิตในต่างประเทศ รหัสของรุ่นรถ (Model) จะเริ่มด้วยอักษร “R” ซึ่งเป็นอักษรนำหน้าบ่งบอกว่าเป็นรถโดยสารของบริษัทนี้ แต่รายการชิ้นส่วนที่ยื่นต่อกรมศุลกากรเพื่อขอนำเข้าประกอบในประเทศ รายการของโครงแชสซีส์หลักจะเหมือนกับโครงแชสซีส์รถบรรทุกที่นำมาดัดแปลงให้เป็นรถโดยสาร ระยะห่างระหว่างศูนย์กลางล้อหน้าถึงศูนย์กลางล้อหลัง (Wheel base) ยังคงเป็น 5.53 เมตร ตำแหน่งติดตั้งเครื่องยนต์ยังคงอยู่เหนือคานหน้า หลังคนขับ ค่อนเข้าไปในห้องโดยสาร เพียงแต่แก้ตัวอักษรนำหน้ารหัสรุ่นรถ จากอักษร “F” (บ่งบอกว่าเป็นแชสซีส์รถบรรทุก) ให้เป็น “R” เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเอกสารที่มาของชิ้นส่วนให้ดูเหมือนว่าเป็นการออกแบบจากผู้ผลิตให้เป็นรถโดยสาร อีกทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องของการประกอบรถผิดแบบที่ยื่นขออนุญาตต่อกรมศุลกากร เพราะการขอนำเข้าประกอบเป็นรถบรรทุก แต่ดัดแปลงเป็นรถโดยสาร
นายอรุณยืนยันว่า การทำประชาพิจารณ์ทุกครั้งที่ผ่านมาไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มีการโกรธแค้นเป็นการส่วนตัว แต่ทนไม่ไหวที่เห็นหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งมวลชนทางบกไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน การที่ไม่สามารถควบคุมผู้ประกอบการขนส่งของภาคเอกชนยังพอทำเนา แต่นี่รถของภาครัฐจากเงินภาษีประชาชนยิ่งเลวร้ายกว่า คนไทยได้ใช้รถโดยสารสองชั้นวิ่งระหว่างจังหวัดที่ใช้แชสซีส์ดัดแปลงจากสองเพลา 6 ล้อ เป็นสามเพลา 8 ล้อมาแล้ว อีกไม่นานก็จะได้ใช้รถโดยสารในกรุงเทพฯ ที่ใช้แชสซีส์ดัดแปลงมาจากรถบรรทุก และตามด้วยรถโดยสารวิ่งระหว่างจังหวัด ความยาว 15 เมตร ที่ใช้แชสซีส์ดัดแปลงจากรถแชสซีส์สามเพลา 8 ล้อ ความยาว 12 เมตร ทำกันง่ายๆ แค่ยืดแชสซีส์ออกกมาอีก 3 เมตร
โดยกรมการขนส่งฯ เห็นชอบและอนุญาตทั้งสิ้น แต่เวลาเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงคนขับตกเป็นจำเลยสังคมแต่เพียงผู้เดียว ผู้มีอำนาจวาสนาก็จะใช้วิกฤตอันร้ายแรงที่เกิดแก่ประชาชน เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการสร้างภาพ แสดงความเป็นห่วงเป็นใยไปถึงสถานที่เกิดเหตุอย่างรีบด่วน นี่แหละคือปัจจัยพื้นฐานของการขนส่งทางบกที่ต้องได้รับการบูรณาการโดยเร่งด่วน