แฉซ้ำ TOR เมล์ NGV เลือกกำหนดเฉพาะคุณสมบัติเครื่องยนต์ เปิดช่องค่ายรถใช้แชสซีรถบรรทุกมาดัดแปลงเป็นรถโดยสารชัดเจน ยันไม่ปลอดภัย แนะปรับกำหนดคุณสมบัติแชสซีรถโดยสารเพื่อครอบคลุมทั้งเครื่องยนต์และระบบเบรก เผยค่ายรถยุโรปไม่ยื่นอยู่แล้วเหตุสเปกรถที่มีสูงกว่า เปิดอีกขบวนการงาบส่วนต่างค่าเปลี่ยนเครื่องยนต์รถเก่า 323 คัน มูลค่ากว่า 200 ล้าน ซิกแซ็กติดถังแก๊สใบเล็ก ชี้ ขสมก.เสียประโยชน์เหตุต้องหยุดวิ่งเติมแก๊สวันละ 2 รอบ
นายนเรศ บุญเปี่ยม ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) โครงการจัดซื้อรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (NGV) 3,183 คัน วงเงิน 13,162 ล้านบาท เปิดเผยว่า TOR จัดซื้อรถ NGV ไม่มีการล็อกสเปกหรือเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะค่ายรถญี่ปุ่นและจีน เพราะมีเงื่อนไขให้ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องมีผลงานการจำหน่ายรถโดยสารขนาด 12 เมตร (ความยาวไม่น้อยกว่า 11.50 และไม่เกิน 12.00 เมตร) ให้แก่หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชนภายในประเทศไทย ต้องมีผลงานการให้บริการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) ที่นำมาประกอบเป็นรถโดยสาร โดยมีระยะทางการวิ่งใช้งานต่อคันของเครื่องยนต์มาแล้วไม่น้อยกว่า 200,000 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ในประเทศมีรถจากค่ายญี่ปุ่นและจีนให้บริการจำนวนมาก TOR ต้องการได้ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์การทำงานในประเทศไทย และเข้าใจถึงคุณภาพก๊าซที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง สภาพอากาศ สภาพพื้นที่ เพื่อให้รถที่นำเข้ามาเหมาะกับประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งยอมรับว่าการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการโซนเอเชีย จีน และญี่ปุ่น มีข้อได้เปรียบกว่าประเทศอื่นเพราะสภาพพื้นที่และภูมิอากาศมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการร่าง TOR จะนำประเด็นเรื่องการเปืดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ในต่างประเทศมาพิจารณาด้วยหรือไม่ เนื่องจากเบื้องต้นยังไม่แน่ใจว่าผู้ที่มีผลงานเฉพาะในต่างประเทศจะมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดหากต้องมารับงานในไทย โดยหลังจากประกาศร่าง TOR โครงการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 19-25 กรกฎาคมที่ผ่านมามีผู้เสนอข้อคิดเห็นจำนวน 63 ราย โดยคณะกรรมการร่าง TOR จะนำข้อคิดเห็นมาพิจารณาเพื่อปรับปรุงร่าง TOR ให้เหมาะสม และนำประกาศขึ้นเว็บไซด์เพื่อประชาพิจารณ์อย่างน้อย 2 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า กรณีเงื่อนไข TOR กำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานเฉพาะเครื่องยนต์ แต่ไม่ได้กำหนดคุณลักษณะแชสซีที่ผลิตมาเพื่อใช้ทำเป็นรถโดยสาร เป็นการเปิดช่องให้ใช้แชสซีรถบรรทุกมาดัดแปลงเป็นรถโดยสารได้ ซึ่งจะกระทบต่อความปลอดภัยแน่นอน โดย TOR ควรกำหนดคุณลักษณะของแชสซีทั้งคันมากกว่า ซึ่งจะครอบคลุมถึงเครื่องยนต์ ระบะเบรก ส่วนการอ้างมาตรฐาน UNECE นั้นเป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจว่าจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยเช่นกัน เนื่องจาก มาตรฐาน UNECE R-85 ที่กำหนดนั้นกำกับเครื่องยนต์ที่เข้าประมูล แต่ไม่อ้างข้อกำหนดมาตรฐาน UNECE R -13 ว่าด้วยระบบห้ามล้อไว้ด้วย
“ต้องยอมรับรถค่ายญี่ปุ่นและจีนได้เปรียบค่ายยุโรปอยู่แล้ว ไม่ต้องกำหนดสเปกเอื้อก็ชนะ เนื่องจากการประมูลครั้งนี้ รถค่ายเบนซ์ หรือกลุ่มสแกนดิเนเวีย ไม่สามารถยื่นประมูลได้เพราะมีมาตรฐานรถยูโร 6 ราคาประมาณ 4 ล้านบาท/คัน สูงกว่าที่ TOR รถ NGV ขสมก.กำหนดแค่มาตรฐานยูโร 3 เท่านั้น”
แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า มติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คันนั้นได้เห็นชอบการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลของรถปัจจุบันเป็นเครื่องยนต์ใช้ก๊าซ NGV จำนวน 323 คัน วงเงิน 535 ล้านบาทด้วย ซึ่งเป็นรถปรับอากาศยี่ห้อฮีโน่ทั้งหมด อายุ 11-15 ปี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ขสมก.ไม่เปิดประมูลเจาะจงให้ฮีโน่เป็นผู้ปรับเปลี่ยนและมีการกำหนดใช้ถังแก๊สใบเล็กทำให้ต้องเสียเวลาเติมแก๊สวันละ 2 ครั้ง ในขณะที่พื้นที่ตัวถังสามารถติดตั้งถังแก๊สใบใหญ่ได้ ซึ่งจะเติมเพียงวันละครั้ง เป็นการดำเนินการที่ทำให้ ขสมก.เสียประโยชน์หรือไม่ เพราะรถวิ่งได้ไม่เต็มที่ และมีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า กรณีดังกล่าวเพื่อประหยัดค่าเปลี่ยนเครื่องยนตเหลือประมาณคันละไม่เกิน 1 ล้านบาท ขณะที่ตามกรอบได้อนุมัติไว้ถึงคันละ 1.65 ล้านบาท หรือเท่ากับมีเงินส่วนต่างเหลือกว่า 200 ล้านบาท