xs
xsm
sm
md
lg

“นิด้า” ปรับประมาณการขยายตัว ศก.ปีนี้เหลือแค่ 3.7% ลุ้นผลงานไตรมาสสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นิด้าปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้เหลือ 3.7% เงินเฟ้อทั้งปี 2.5% ดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ 2.5% มีโอกาสเล็กน้อยที่จะปรับลดลงหากเศรษฐกิจไตรมาส 4 ไม่กระเตื้องอย่างที่คาด

นางณดา จันทร์สม คณบดี คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า คาดว่า ไตรมาสที่ 4 ปีนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นขยายตัวร้อยละ 4.9 สูงกว่าไตรมาสที่ 3 ที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8 เท่านั้น ปัจจัยที่ทำให้ไตรมาสที่ 4 เติบโต ได้แก่ การส่งออกที่มีสัญญาณดีขึ้น แต่รายได้จากการส่งออกในรูปสกุลเงินดอลลาร์ของปี 2556 จะขยายตัวเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น เนื่องจากการส่งออกในช่วง 2 ไตรมาสแรกต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 3 ไม่ดีนัก

กรณีดังกล่าวส่งให้ภาพรวมตลอดปีนี้จะขยายตัวชะลอลงจากที่เคยประเมินในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาทั้งปีโตร้อยละ 4.3 นิด้าจึงปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้เหลือร้อยละ 3.7 ส่วนอัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นจากในช่วงเดือน มิ.ย.ถึง ส.ค. จากราคาพลังงานและเงินบาทอ่อนค่าลง โดยมีอัตราเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และมีโอกาสเล็กน้อยที่จะปรับลดลงหากเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ไม่กระเตื้องอย่างที่คาด

นายกำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ นิด้า กล่าวว่าตลาดหุ้นไทยหากเปรียบเทียบอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น หรือ P/E กับตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ซึ่งประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ตลาดหุ้นไทยยังมีราคาไม่แพง และยังมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ เนื่องจาก P/E ของไทยอยู่ที่ 16.31 เท่า ต่ำกว่าอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่อยู่ในระดับ 18.29 และ 18.88 ตามลำดับ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานที่อยู่ในระดับ 18.01 โดยจากการทำแบบจำลองแสดงค่าเฉลี่ยดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ สิ้นปี 2556 จะอยู่ที่ระดับ 1,513 จุด

ดังนั้น จึงมีโอกาสที่หุ้นไทยจะปรับตัวสูงขึ้นได้ และจากการทำงานร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า ถึงรูปแบบการลงทุนในไตรมาส 4 พบว่า นักลงทุนควรกระจายพอร์ตการลงทุนเพื่อบริหารความเสี่ยง โดยแบ่งสัดส่วนลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ร้อยละ 27.74 พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นร้อยละ 30.66 หุ้นกู้ร้อยละ 27.67 ส่วนทองลงทุนร้อยละ 5.88 และคอมมอดิตีร้อยละ 8.64

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยในขณะนี้มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ปัจจัยภายในได้แก่ ความชัดเจนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท โครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท ว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันให้เกิดการลงทุนได้เมื่อใด

รวมถึงประเด็นการเมืองที่นักลงทุนต้องติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 2-3 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 และการตัดสินประเด็นเขาพระวิหารของศาลโลก และต้องจับตาปัจจัยต่างประเทศ ทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ ถึงความชัดเจนในการดำเนินนโยบาย QE รวมถึงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนและความเชื่อมั่นของนักลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น