xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.อภ.คนใหม่ทำงานวันแรก ลั่นพัฒนาให้เจริญ โปร่งใส ตรวจสอบได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.)
“หมอสุวัช” เซ็นสัญญาว่าจ้างเข้าดำรงตำแหน่ง ผอ.อภ.คนใหม่ ลั่นพร้อมเข้ามาพัฒนาให้เจริญขึ้น สางปัญหา และเดินหน้าโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นทำองค์กรให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ หลัง “หมอวิทิต” ถูกเลิกจ้าง เหตุบกพร่องในหน้าที่ บริหารความเสี่ยงไร้ประสิทธิภาพ ชี้ทำงานแบบมีภาคีมากกว่าแข่งขันอุตสาหกรรมยา

วันนี้ (2 ก.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่องค์การเภสัชกรรม นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) คนใหม่ เข้าทำงานเป็นวันแรกหลังคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) มีมติเลือกให้ดำรงตำแหน่งแทน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีต ผอ.อภ.ที่บอร์ดมีมติเลิกจ้างจากกรณีบกพร่องในหน้าที่และไม่มีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ โดย นพ.สุวัช ได้ทำการบูชาพระภูมิเจ้าที่ และสักการะอนุสาวรีย์ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์ประจำหน่วยงาน โดยมีเจ้าหน้าที่และพนักงาน อภ.มอบดอกกุหลาบสีแดงเพื่อแสดงความยินดีและให้การต้อนรับอย่างคึกคัก จากนั้น นพ.สุวัช ได้ขึ้นไปยังห้องประชุม 1 ชั้น 4 เพื่อทำพิธีลงนามสัญญาว่าจ้างให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.อภ.คนใหม่ ซึ่งมี นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานประธานบอร์ด อภ. เป็นตัวแทนบอร์ดและพนักงาน อภ.ทั้งหมดมอบดอกไม้แสดงความยินดี

นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า ตนในฐานะตัวแทนบอร์ด และพนักงาน อภ.ขอต้อนรับ นพ.สุวัช ผอ.อภ.คนใหม่ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า นพ.สุวัช เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีพลังความหนุ่มทั้งร่างกายและจิตใจที่พร้อมจะเข้ามาช่วย อภ.พัฒนางานให้มีความก้าวหน้า ซึ่งนอกจากเรื่องการจัดหายาจำเป็นให้แก่ประชาชน และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาอย่างยุติธรรมอันเป็นภารกิจหลักแล้ว ยังมีนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ผลักดันให้ อภ.เป็นหน่วยงานหลักในการจัดหายาสามัญ โดยเฉพาะยาที่มีค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านยาคิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการรักษาพยาบาล หาก อภ.สามารถผลิตและจำหน่ายเองได้ก็จะช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลงได้ ซึ่งตัว นพ.สุวัช เองก็มาจากฝั่ง สธ.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ อภ.มาโดยตลอด ก็คงสามารถนำประสบการณ์จากการคลุกคลีในสถานพยาบาลมาช่วยพัฒนาการให้ดีขึ้นได้

“นอกจากภารกิจในการจัดหายาแล้ว ยังรวมไปถึงการพัฒนายาสมุนไพร ชีววัตถุ การจัดหาเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา และผู้แทนในการจำหน่ายยาหายากด้วย ส่วนเรื่องที่ยังคงค้างอยู่ อาทิ การพัฒนาโรงงานผลิตวัคซีนยาต้านไวรัสเอดส์ เป็นต้น หากสำเร็จลุล่วงก็จะช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางยามากขึ้น สามารถจัหาเวชภัณฑ์ได้ด้วยตนเอง” ประธานบอร์ด อภ.กล่าว

นพ.สุวัช กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณบอร์ด อภ.และ ผู้บริหาร สธ.ที่ให้โอกาสตนได้มาสมัครเพื่อรับคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการ อภ.คนใหม่ เพราะช่วงที่ผ่านมาตนเห็นข่าวคราวปัญหาการดำเนินงานของ อภ.ก็มีความเป็นห่วง รวมถึงเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ สมัยยังอยู่ในเขตตรวจฯ ด้าน สธ.ก็มีนโยบายพัฒนาระบบเขตบริการจึงเห็นว่าการทำงานมีความสอดคล้อง สามารถทำงานร่วมกันได้ จึงตั้งใจว่าจะเข้ามาพัฒนา อภ.ให้มีความเจริญมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการด้านยาและเวชภัณฑ์ในระบบสาธารณสุข ช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงยาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง รวมทั้งพยายามดูแลงานในส่วนที่ต้องรับมาดำเนินการต่อแล้วเสร็จโดยเร็ว เช่น การก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก และโครงการโรงงานผลิตยารังสิต เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อภ.ถือได้ว่าเป็นระบบอุตสาหกรรมยาที่มีศักยภาพในการผลิตยาหลายชนิด การทำงานมองว่าควรทำงานแบบมีภาคีเครือข่ายมากกว่าการเป็นคู่แข่ง นอกจากนี้ จะต้องเดินหน้าเรื่องการวิจัยและเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว ยาชื่อสามัญ รวมถึงยาสมุนไพร โดยจะต้องพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้ อภ.มีศักยภาพในการผลิตสูงขึ้น ไม่มีปัญหาการสต๊อกยา รวมถึงทำให้องค์กรโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตนพร้อมที่จะให้ทำการประเมินตรวจสอบการทำงานได้ ซึ่งโดยปกติก็จะต้องมีหลักเกณฑ์ในการวัดผลประเมินผล (KPI) เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว
ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า มอบนโยบายให้ ผอ.อภ.คนใหม่ โดยเน้นทำงานตามภารกิจของอภ.เป็นหลัก คือ การสร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ  ซึ่งกลยุทธ์ในการดำเนินงานเป็นสิ่งที่ อภ.ต้องวิเคราะห์แผนโดยเฉพาะใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.เรื่องการผลิตยาเอง โดยดูว่าคุ้มค่าหรือไม่ หากไม่ก็ให้เลือกวิธีการซื้อดีกว่า 2.การสต๊อกยาที่เหมาะสม เช่น การมีคลังยาในภูมิภาค จะช่วยลดต้นทุนและราคายา ช่วยโรงพยาบาลมีสภาพคล่องมากขึ้นเนื่องจากโรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่ซื้อยาจาก อภ.อีกทั้งยังช่วยเรื่องการบริหารจัดการด้วย เพราะหากเกิดนำ้ท่วมในภาคเหนือแต่มีคลังยาที่ภาคใต้ก็สามารถดึงมาใช้งานได้  และ 3.การเป็นผู้นำแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงยาของประชาชน  ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตยาภายในประเทศยังกังวลเรื่องสิทธิบัตร ทำให้ไม่กล้าผลิตยาบางตัว เพราะเกรงว่ายังติดสิทธิบัตร อภ.จะต้องประสานความร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญหาขอให้แจ้งรายชื่อยาที่หมดสิทธิบัตรให้ทราบแล้วอภ.เป็นผู้ผลิตนำร่องและจำหน่ายยาราคาไม่แพง เมื่อภาคเอกชนเห็นว่าไม่ถูกฟ้องจะได้กล้าที่จะผลิต จากนั้นอภ.จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบไม่ให้เอกชนจำหน่ายยาในราคาแพง 

“อภ.ต้องปรับการบริหารงานในบางส่วน เพราะต้นทุนการผลิตยาบางตัวสูงกว่าเอกชน การให้ รพ.รัฐมาซื้อยาจาก อภ.ขณะที่ภาคเอกชนขายถูกกว่าไม่แฟร์ จำเป็นต้องพิจารณาลดต้นทุนเพื่อให้ราคาสู้เอกชนได้ นอกจากนี้ เรื่องที่เป็นปัญหาต่างๆ เช่น การก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก อภ.ภายใต้การนำของผอ.คนใหม่ต้องเร่งตัดสินใจว่าจะเสนอรัฐบาลให้ตัดสินว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร เพราะต้องนำเรื่องเสนอ ครม.เพื่อขอนอนุมัติเรื่องการเปลี่ยนแปลงแบบการก่อสร้างหรือการของบประมาณเพิ่มเติม เป็นต้น” รมว.สาธารณสุข กล่าว 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น