คณะกก.กลั่นกรองฯ ไฟเขียวการบินไทยตั้ง บริษัทลูก”ไทยสมายล์แอร์เวยส์ จำกัด” ถือหุ้น 100% เตรียมเสนอครม.อนุมัติ “พฤณท์”ชี้คล่องตัวกว่า ต้นทุนต่ำกว่า แยกบริหารออกจากการบินไทยชัดเจน ชูจุดแข็งเจาะตลาดภูมิภาค เชื่อช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้การบินไทยฐานะการเงินแข็งแกร่ง
พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบการจัดตั้ง บริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวยส์ จำกัด โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 100%มีทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาทจำนวน 180 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 10บาท โดยในปี 2556 จะชำระ 25% คิดเป็นเงิน 450 ล้านบาท ส่วนที่เหลือชำระในปี 2557 จำนวน 1,350 ล้านบาท โดยขั้นตอนจากนี้จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ เป้าหมายในการจัดตั้ง บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวยส์ จำกัด เพื่อให้เป็นสายการบินที่สามารทำการตลาดได้อย่างครอบคลุมและมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ทันกับสถานการณ์การแข่งขันของธุรกิจการบินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และจะเป็นส่วนหลักในการหารายได้ให้ บริษัท การบินไทย ในขณะที่มีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำกว่าวางแผนการบินร่วมกับการบินไทย โดยเข้าไปบินทดแทนในเส้นทางบินของการบินไทยในส่วนหนึ่ง และหาตลาดใหม่ได้เร็วกว่าการบินไทย มุ่งเน้นการขายตั๋วผ่านอินเตอร์เน็ต
“ไทยสมายล์จะไม่ซ้ำซ้อนกับนกแอร์ โดยวางตำแหน่งว่าจะดำเนินธุรกิจสายการบินแบบพรีเมี่ยม โลว์คอสต์ ซึ่งจะมีบริการที่เหนือกว่าสายการบินโลว์คอสต์ โดยจะมีเส้นทางบินทั้งภายในประเทศและภูมิภาค ลักษณะเดียวกับแอร์เอเชีย แต่จะให้บริการพิเศษกับผู้โดยสารที่แตกต่างจากสายการบินโลว์คอสต์ทั่วไป เช่น สามารถเลื่อนหรือปรับเปลี่ยนวันเวลาในการเดินทางได้ มีความยืดหยุ่นในการจองตั๋วมากกว่า, มีที่นั่งชั้นธุรกิจ โดยเครื่องบินจะมีเก้าอี้เหมือนกันหมด แต่ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วราคาชั้นธุรกิจจะมีที่นั่งจัดพิเศษโดยเก้าอี้ด้านข้างจะว่าง อยู่ในโซนที่ไม่มีผู้โดยสารอื่นมานั่งติดด้วย ซึ่งจะทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นและลูกค้าจะตัดสินใจเร็วขึ้น”พล.อ.พฤณท์กล่าว
พล.อ.พฤณท์กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดในภูมิภาคมีการเติบโตสูงแต่ความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมันยังต้องระมัดระวังเป็นพิเศษซึ่งขณะนี้การดำเนินธุรกิจของสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งยังคงเป็นหน่วยธุรกิจของการบินไทยอยู่นั้น มุ่งไปที่ตลาดอินเดียที่มีความต้องการสูง แต่ปรากฏว่า อินเดียประสบปัญหาเงินรูปีแข็งค่าจึงต้องยกเลิกเส้นทางและหันมาเพิ่มเส้นทางไปมาเก๊ากับจีนแทน ซึ่งถือเป็นจุดเด่นในเรื่องความคล่องตัวในการตัดสินใจ แต่ก็มีจุดอ่อนเพราะหากยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนเส้นทางบ่อยมากเกินไป อาจทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าการบินไม่แน่นอน และไม่มั่นใจในการใช้บริการได้
สำหรับบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวยส์ จำกัด จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำหลักเกณฑ์ คำสั่ง กฎระเบียบข้อบังคับ มติครม.ที่ใช้กับรัฐวิสาหกิจทั่วไป เช่นเดียวกับการบินไทยทุกประการ โดยไม่ได้รับการยกเว้นใน 2 เรื่อง คือ การก่อหนี้สาธารณะและงบลงทุน ซึ่งจะต้องใช้ระเบียบรัฐวิสาหกิจ โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) มีจำนวนไม่เกิน 11 คน ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงการคลัง 1 คนผู้แทนจากบอร์ดการบินไทยหรือที่ได้รับมอบหมาย 7-9 คน กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ 1 คน