xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวตั้ง บ.ไทยสมายล์ “นายกฯ” ห่วงตลาดและภาพลักษณ์ขัดแย้งการบินไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ครม.เห็นชอบการบินไทยลงทุน 1.8 พันล้าน ตั้งบริษัทไทยสมายล์ถือหุ้น 100% “นายกฯ” กำชับดูแลตลาดและวัฒนธรรมองค์กรหวั่นขัดแย้งกับการบินไทย ตั้งเป้าลุยตลาดภูมิภาครับเปิด AEC วางแผนปี 58 บินไปยัง 30 จุดบิน มีผู้โดยสาร 5.3 ล้านคน รายได้ 2.08 หมื่นล้าน ขณะที่ 2 ปีแรกต้องขาดทุนประมาณ 1.7 พันล้าน

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 กันยายน ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ วงเงินลงทุน 1,800 ล้านบาท โดยการบินไทยถือหุ้น 100% เป็นหุ้นสามัญจำนวน 180 ล้านหุ้น ในราคามูลค่าหุ้นละ 10 บาท ซึ่งการดำเนินงานของสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์นั้นจะรับโอนเส้นทางการบินในภูมิภาครวม 14 เส้นทางของการบินไทยที่ทำการบริการบินอยู่เพื่อดำเนินการแทน

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้กระทรวงคมนาคม และผู้บริหารการบินไทยให้ดูแลเรื่องวัฒนธรรมองค์กร ไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก รวมถึงการกำหนดตลาดของไทยสมายล์แอร์เวย์ต้องมีความชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยยังมีสายการบินนกแอร์ ที่วางไว้ในตลาดสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) อยู่แล้วด้วย

ทั้งนี้ การบินไทยได้กำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ระหว่างการบินไทย และไทยสมายล์ และนกแอร์ เพื่อพัฒนาศักยภาพและเสริมความแข็งแกรง และสนองความต้องการของลูกค้าได้ครอบคลุมทุกตลาดและขยายโอกาสรองรับการเปิด AEC โดยการบินไทยจะเน้นเส้นทางบินระยะไกลให้บริการแบบ Premium Full Service ด้วยฝูงบินลำตัวกว้าง ใช้ฐานการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไทยสมายล์ บริการเส้นทางภายในประเทศและเส้นทางบินภูมิภาค ระยะทางบินไม่เกิน 4 ชั่วโมง ให้บริการแบบ Reginal Service อย่างมีคุณภาพรูปแบบทันสมัย ภายใต้ความแข็งแกร่งของการบินไทย ด้วยฝูงบินลำตัวแคบ ใช้ฐานการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีเป้าหมายเป็นสายการบินชั้นนำใน AEC ส่วนนกแอร์เป็นสายการบินต้ำทุนต่ำในภูมิภาค บินด้วยเครื่องบินลำตัวแคบหรือเล็กกว่า เน้นบินลักษณะ Point-to-Point ใช้ฐานการบินที่สนามบินดอนเมือง

โดยไทยสมายล์จะทำสัญญาเช่า (Lease) และเช่าช่วง (Sub-lease) เครื่องบินแบบ A 320 จำนวน 20 ลำจากการบินไทย มาดำเนินการซึ่งเงินลงทุน 1,8000 ล้านบาทจะรองรับการดำเนินธุรกิจซึ่งคาดว่าจะมีผลขาดทุนสุทธิเป็นเวลา 2 ปี รวมเป็นเงิน 1,712 ล้านบาท ในขณะที่เป้าหมายในปี 2557 จะมีเครื่องบิน 17 ลำ ปี 2558 เพิ่มเป็น 20 ลำ และทำการบินไปยัง 30 จุดบิน คาดว่าในปี 2556 จะมีผู้โดยสาร 1.8 ล้านคน และเพิ่มเป็น 5.3 ล้านคน ในปี 2558 โดยมีรายได้ ประมาณ 20,800 ล้านบาท มีอัตรากำไรสุทธิ 8%

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอความเห็นประกอบว่า สายการบินไทย และสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ ควรสร้างความแตกต่างในรูปแบบและคุณภาพบริการให้โดดเด่นและชัดเจน ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ทางการตลาด และการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

ขณะเดียวกันยังให้พิจารณานำระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ในการให้บริการบนเครื่องบิน เพื่อให้ผู้ใช้บริการเห็นภาพลักษณ์ความแตกต่างในเรื่องคุณภาพการให้บริการและราคาที่คุ้มค่าของสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ที่เป็นสายการบินภูมิภาค กับสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบและสายการบินราคาประหยัด

นอกจากนี้ เพื่อให้ไทยสมายล์แอร์เวย์สามารถกำหนดนโยบายการบริหารอย่างเป็นเอกภาพ และแข่งขันในธุรกิจการบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรให้กำหนดแนวทางที่สำคัญ คือ กำหนดโครงสร้างคณะกรรมการบริหาร ควรมีผู้แทนจากการบินไทย ไม่เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการบริหารทั้งหมด และการกำหนดอัตราค่าตอบแทน อัตราเงินเดือนและสวัสดิการของพนักงานไม่ควรอยู่ในเงื่อนไขเดียวกันกับบริษัทการบินไทย แต่ควรเทียบเคียงกับสายการบินคู่แข่งในตลาดเดียวกัน

ส่วนการจัดโครงสร้างการบริหารและบุคคลากร ควรให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจการบินในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การบริหารจัดการองค์กรควรเน้นในเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการที่ดี ดำเนินการด้วยความโปร่งใสด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น