“นกแอร์” เตรียมขายหุ้น IPO ภายในปลาย มิ.ย.นี้ ลดหุ้นการบินไทยเหลือ 39% คาดระดมทุนได้ 5 พันล้านเพื่อเป็นทุนหมุนเวียน-หาเครื่องบินเพิ่ม ชูจุดแข็งบริการ-จุดบินครอบคลุม ครองส่วนแบ่งตลาดโลว์คอสต์สูงสุด เหตุมีเครื่องบินใหม่ ลดต้นทุนน้ำมันช่วยดันรายได้โตก้าวกระโดด อนาคตสดใส Cabin Factor เฉลี่ยกว่า 80% AEC กระตุ้นไทยฮับการบินภูมิภาค จ่อเปิดบินต่างประเทศอีกครั้ง ยึดบินหัวเมืองเข้าพม่าที่กำลังบูมทั้ง ศก.และท่องเที่ยว
นายวิทัย รัตนากร ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน (CFO) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นกแอร์จะขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 187.5 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 30% แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 125 ล้านหุ้น (20%) และหุ้นสามัญของผู้ถือหุ้นเดิมเสนอขายโดยบริษัท เอวิเอชั่น อินเวสต์เม้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อีก 62.5 ล้านหุ้น (10%) โดยได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 6 มีนาคม และคาดว่า (เทรดดิ้ง) จะได้ช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้
โดยคาดว่าจะได้เงินจากการขายหุ้นประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานเพื่อขยายกิจการในอนาคต และจัดหาเครื่องบินเพิ่ม ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นของนกแอร์หลังขายหุ้น ในส่วนของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะเหลือ 39.2% จาก 49% บริษัท เอวิเอชั่น เหลือ 10% จาก 25% ซึ่งการปันผลให้ผู้ถือหุ้นที่ผ่านมาอยู่ในอัตรา 50% ของกำไรสุทธิตลอด
ทั้งนี้ นกแอร์เป็นสายการบินราคาประหยัด (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ที่มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จาก 34.9% ในปี 53 เป็น 41% ในปี 55 โดยหากเปรียบเทียบกับสายการบินโลว์คอสต์ด้วยกันนกแอร์มีจุดบินภายในประเทศครอบคลุมมากที่สุด โดยปัจจุบันมี 23 จุดบิน รวม 483 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เนื่องจากมีเครื่องบินหลายขนาดทำการบินไปยังเมืองใหญ่ กลาง เล็ก ได้อย่างเหมาะสมทำให้คุ้มค่ามากกว่า มีอัตราการเติบโตของผู้โดยสารสูงจาก 2 ล้านคนในปี 53 เป็น 4 ล้านคนในปี 55 ส่วนปี 56 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 6 ล้านคน
นายวิทัยกล่าวว่า ผลการดำเนินงานนกแอร์ปี 55 มีรายได้ 8,217.6 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 504.7 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานช่วงไตรมาส 1/56 (ม.ค.-มี.ค.) มีรายได้ 2,811 ล้านบาท กำไรสุทธิ 425.3 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารต่อเที่ยวบิน (Cabin Factor) เฉลี่ย 80-85% ซึ่งการเติบโตมาจากการจัดหาเครื่องบินเพิ่ม ซึ่งภายในปลายปีนี้จะมีฝูงบินรวม 21 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 14 ลำ ATR 2 ลำ และ SAAB 5 ลำ
“นกแอร์มีค่าใช้จ่ายเป็นเงินสกุลดอลลาร์ 60% แบ่งเป็นต้นทุนน้ำมัน 35% ที่เหลือคือค่าเช่าเครื่องบินและค่าบริหารจัดการต่างๆ ขณะรายได้จะเป็นสกุลเงินบาททั้งหมด และไม่มีภาระหนี้ ซึ่งเครื่องบินใหม่ช่วยประหยัดต้นทุนน้ำมันได้ 13% และทำประกันความเสี่ยงน้ำมัน (เฮดจิ้ง) ประมาณ 30% ลดความเสี่ยงราคาน้ำมันที่ผันผวน ส่วนการเพิ่มเครื่องบินจะใช้การเช่าเป็นหลักเพราะใช้เวลาเพียง 3-6 เดือนโดยจะสั่งเมื่อมั่นใจว่าจะมีจุดบินเพิ่มและทำกำไรได้ และกำลังพิจารณาซื้อเครื่องบิน ATR เพราะคุ้มค่าเนื่องจากเทคโนโลยีค่อนข้างนิ่งแล้ว จึงต่างจากสายการบินอื่นที่ซื้อเครื่องบินครั้งละมาก ซึ่งอายุฝูงบินขณะนี้เฉลี่ยที่ 7 ปี อัตราหมุนเวียนการใช้จาก 7 ชม./วัน เป็น 10-11.5 ชม./วันเมื่อมีฝูงบินเพิ่ม โดยช่วง 3 ปีจากนี้คาดว่าจำนวนที่นั่งจะเพิ่มไม่ต่ำกว่า 37% และจะมีการขยายเส้นทางบินภายในประเทศโดยไม่ผ่านกรุงเทพฯ (โครงข่ายใยแมงมุม) เช่น ภูเก็ตสู่จังหวัดทางภาคอีสาน ขณะที่การเปิด AEC จะยิ่งทำให้ไทยเป็นการบินของภูมิภาคที่สามารถเดินทางได้ครอบคลุม จีน เกาหลี อินเดีย AEC ในเวลา 4-4.5 ชม. ขณะที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย ใช้เวลามากกว่า” นายวิทัยกล่าว
นายปิยะ ยอดมณี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ กล่าวว่า การขยายเส้นทางบินไปยังต่างประเทศจะเปิดแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยพิจารณาความคุ้มค่าและการทำกำไรอย่างรอบคอบ ซึ่งประเทศแรกคือพม่าที่นกแอร์จะให้บริการเพราะมีอัตราการเติบโตด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสูง โดยเริ่มจากเครื่องบินเล็กประมาณ 30-60 ที่นั่ง ใช้จุดบินที่เป็นหัวเมืองสำคัญของประเทศแบบไม่ต้องผ่านมายังกรุงเทพมหานคร คือ กันยายนเปิดบินเส้นทางแม่สอด-เมาะลำไย, แม่สอด-ย่างกุ้ง ในเดือนตุลาคม, กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง ในเดือนพฤศจิกายน และกำลังศึกษาเส้นทางเชียงใหม่-มัณฑะเลย์ และเชียงใหม่-บากัน นอกจากนี้ยังมีแผนขยายเส้นทางบินต่างประเทศอื่นๆ ที่ใช้เวลาบินประมาณ 4 ชั่วโมง เช่น จีน เกาหลี และอินเดีย
ยันบริหารอิสระ ไม่เคยทะเลาะการบินไทย
นายปิยะกล่าวว่า การจะอยู่รอดในธุรกิจสายการบินการบริหารต้องเป็นอิสระ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหากับการบินไทย ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่นกแอร์ได้รับอนุมัติในการดำเนินงานทุกอย่างเพราะทุกอย่างสร้างผลดีต่อผู้ถือหุ้น การทักท้วงเรื่องใดๆ ก็เพื่อให้นกแอร์ดีขึ้น ซึ่งหลังขายหุ้น IPO จะยิ่งส่งผลดีต่อนกแอร์ในการขยายธุรกิจต่อไป
ขณะที่นายวิทัยกล่าวว่า กรณีการบินไทยสมายล์นั้น ยืนยันว่าไม่ใช่โลว์คอสต์ขายตั๋วผ่านเอเยนต์ ราคาเปลี่ยนไม่ได้เหมือนกับการบิน แต่มีการปรับแบรนด์ให้กระฉับกระเฉงขึ้น ต่างจากนกแอร์ขายผ่านเว็บไซต์ปรับราคาให้เหมาะสมได้ตลอด จึงไม่น่าจะเป็นคู่แข่งกัน และการมีจุดแข็งเรื่องโหลดกระเป๋า 15 กก.ฟรี มีของว่างเสิร์ฟ ทำให้ผู้โดยสารนิยมทำให้มีรายได้/ที่นั่ง/กม.สูงถึง 2.82 บาท