xs
xsm
sm
md
lg

ตำแหน่งไม่ชัด หวั่น “ไทยสมายล์” แย่งลูกค้า “การบินไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ชัชชาติ” หวั่นการบินไทยแยกตั้ง “ไทยสมายล์” มาแย่งผู้โดยสารกันเอง แนะต้องวางตำแหน่งในตลาดให้ชัด ที่สำคัญดีพอสู้คู่แข่งได้หรือไม่ ยันเป้าหมายไทยเป็นฮับการบินในภูมิภาค เชิญไออาตาร่วมเป็นกรรมการเจาะข้อมูลสายการบิน พร้อมเสนอช่วยดึงเช่าเหมาลำเป็นสมาชิกหวังช่วยยกระดับมาตรฐานบริการ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะเสนอโครงการลงทุนจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ แอร์เวย์ เป็นบริษัทย่อยว่า การบินไทยต้องดูเงื่อนไขและตำแหน่งและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจของไทยสมายล์ให้ดีว่าคืออะไร หากไม่ชัดเจนสุดท้ายจะกลายเป็นการแย่งลูกค้ากันเองได้ เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยกำหนดตัวเองเป็นสายการบินระดับพรีเมียม แต่นกแอร์ และไทยสมายล์ ที่การบินไทยถือหุ้นอยู่ยังไม่มีความชัดเจน และเมื่อกำหนดตำแหน่งได้แล้วต้องดูว่าจะสามารถแข่งขันได้แค่ไหนด้วย

“การบินไทยเป็นบริษัทมหาชน มีอิสระในการบริหารจัดการ ในเชิงธุรกิจ กระทรวงคงไม่ลงไปก้าวก่าย และคณะกรรมการ (บอร์ด) ได้พิจารณาแล้วคงต้องฟังความเห็นก่อน เชื่อว่าคงมีเหตุผลระดับหนึ่ง แต่ที่กังวลคือการแย่งลูกค้ากันเอง เพราะบางเส้นทางในประเทศ เช่น จ.อุดรธานี การบินไทยเลิกบินและให้ไทยสมายล์ไปบินแทน ไม่รวมการแข่งขันกับสายการบินอื่น เช่น บางกอกแอร์เวย์ส และสายการบินแอร์เอเชีย ว่าจะสู้ไหวหรือไม่ การบินไทยคงต้องชี้แจงให้ชัดเจน” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน Mr.Chris Humbert-Drox ผู้จัดการสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA หรือไออาตา) ประจำประเทศไทย กัมพูชา ลาว พม่า และคณะได้เข้าพบ โดยไออาตาได้ติดตามความคืบหน้าของการเข้าภาคีอนุสัญญาเพื่อการรวบรวมกฎเกณฑ์บางประการสำหรับการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ ค.ศ. 1999 (อนุสัญญามอนทรีอัล 1999) ของประเทศไทยที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอสภาเพื่อเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ... ซึ่งจะเป็นกฎหมายสอดคล้องกับการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญามอนทรีอัล ในการปกป้องสิทธิผู้โดยสารและสินค้าเป็นหลัก โดยขณะนี้เหลือไทย, รัสเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ ที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน

ทั้งนี้ เป้าหมายของไทยต้องการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (ฮับ) ซึ่งได้เชิญให้ไออาตาเข้าร่วมในคณะทำงานทั้ง 3 ชุด คือ ด้านซ่อมบำรุงอากาศยาน, การฝึกอบรมบุคลากร และการผลิตอะไหล่ เพราะไออาตาเป็นตัวแทนสายการบิน ซึ่งจะมีข้อมูลและเข้าใจความต้องการของสายการบินเป็นอย่างดี โดยให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) และกรมการบินพลเรือน (บพ.) ประสานข้อมูลร่วมกับไออาตาเพื่อนำมาประเมินผลในการกำหนดแผนที่เหมาะสมเพื่อให้ไทยเป็นฮับการบิน

สำหรับธุรกิจการบินที่เติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะโลว์คอสต์แอร์ไลน์ และสายการบินเช่าเหมาลำ เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารได้มากกว่า แต่ในขณะเดียวกันพบว่าสายการบินเช่าเหมาลำสร้างปัญหากับธุรกิจการบินมากเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสมาชิกของไออาตา จึงเสนอให้ไออาตาช่วยดึงสายการบินเช่าเหมาลำเข้าเป็นสมาชิกเพราะจะช่วยยกระดับคุณภาพการให้บริการได้

อย่างไรก็ตาม ทางไออาตายังยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับมาตรการการค้าสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป (EU-ETS) ซึ่งปัจจุบันทางอียูได้หยุดจัดเก็บค่าคาร์บอนเครดิตชั่วคราว เนื่องจากทำให้ต้นทุนของสายการบินเพิ่มขึ้นมาก โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น