พัฒนาที่แปลง 37 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสะดุด กรมธนารักษ์เรียกค่าใช้ประโยชน์ที่ดินจาก ทอท.50% ชี้กิจกรรมไม่เกี่ยวการบิน ทอท.แจ้นหารือ บพ.ช่วยยืนยันกิจกรรมเกี่ยวเนื่องบริการผู้โดยสาร “สมชัย” ยอมรับปัญหาใหญ่ ดับฝันเพิ่มรายได้ Non Aero เป็น 60%
นายสมชัย สวัสดีผล รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่ดินแปลงที่ 37 พื้นที่ประมาณ 1,140 ไร่ ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถเดินหน้าโครงการได้ เนื่องจากกรมธนารักษ์ระบุว่าเป็นการพัฒนาเชิงพาณิชย์จะเก็บค่าใช้ประโยชน์ที่ดินในอัตรา 50% จากอัตราปกติที่กรมธนารักษ์จัดเก็บอยู่ 5% ส่วนท่าอากาศยานในภูมิภาคจัดเก็บอัตรา 3% ดังนั้น ทอท.จึงได้ทำเรื่องไปยังกรมการบินพลเรือน (บพ.) เพื่อขอให้ประเมินการดำเนินโครงการดังกล่าว ว่าเป็นการให้บริการผู้ใช้บริการท่าอากาศยานรูปแบบหนึ่ง
ทั้งนี้ เนื่องจากหากตีความเป็นการพัฒนาเชิงพาณิชย์และจ่ายเงินให้กรมธนารักษ์ 50% นอกจากจะกระทบต่อแผนพัฒนาโครงการพัฒนาที่ดินแปลงที่ 37 ของสุวรรณภูมิแล้วยังจะทำให้โครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น โรงแรมอมารีแอร์พอร์ตท่าอากาศยานดอนเมืองจะมีปัญหาไปด้วย และทำให้เป้าหมายในการเพิ่มรายได้จากกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับกิจการบิน (Non Aero) เพิ่มขึ้นเป็น 60%จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 40%
“ถ้าต้องจ่ายให้กรมธนารักษ์ 50% แล้วให้โครงการไปไหวก็ต้องเก็บค่าบริการและราคาสินค้าแพงขึ้นเพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน โครงการไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการสร้างรายได้เพิ่มให้ทอท.โดยพัฒนาธุรกิจภายในสนามบิน มั่นใจว่ากิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการผู้ใช้บริการสนามบินแน่นอน ซึ่ง ทอท.จะต้องทำการตลาดเพื่อเชิญชวนผู้โดยสารมาใช้บริการเป็น one stop service เบ็ดเสร็จภายในพื้นที่สนามบินซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสะดวกมากขึ้น” นายสมชัยกล่าว
ด้านนายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดี บพ.กล่าวว่า ขณะนี้รอหนังสืออย่างเป็นทางการพร้อมกับแผนรายละเอียดการพัฒนาโครงการทั้งหมดว่าจะมีกิจกรรมอะไรบ้างเพื่อพิจารณาว่าเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.การเดินอากาศ กำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ของท่าอากาศยานว่าจะต้องเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบินหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นทราบว่า ทอท.จะพัฒนาที่ดินแปลง 37 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็น Airport City เหมือนท่าอากาศยานอินชอน ประเทศเกาหลีใต้
“การพิจารณาจะใช้เวลาไม่นานเนื่องจากหลักของ พ.ร.บ.การเดินอากาศฯ มีความชัดเจนอยู่แล้ว โดยประเด็นหลัก คือ กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นบริการสำหรับผู้โดยสารจริงหรือไม่ ถ้า ทอท.พิสูจน์ได้ว่าผู้ใช้บริการท่าอากาศยานเป็นผู้ใช้บริการหรือชอปปิ้งสินค้าต่างๆ ก็ไม่น่ามีปัญหา” นายวรเดชกล่าว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาที่ดินแปลงที่ 37 ตั้งแต่ปี 2553 โดยอยู่ในแผนพัฒนาระยะยาวหรือมากกว่า 10 ปี โดยจะดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานและดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เพราะคาดว่ามูลค่าโครงการจะมากถึง 1,0000 ล้านบาท โดยจะมีการพัฒนาเป็นศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ, ศูนย์แสดงสินค้าส่งออก, อาคารสำนักงานเกรดเอรองรับธุรกิจเกี่ยวกับท่าอากาศยานและบริษัทต่างๆ, ศูนย์การค้าระดับชุมชนเกรดเอ, โรงแรมระดับ 3-5 ดาว เป็นต้น