xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นรันเวย์ 3 สุวรรณภูมิแท้ง “ชัชชาติ” ดันพัฒนาอู่ตะเภาช่วยรับเที่ยวบิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“คมนาคม” ดันพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาใช้ควบคู่สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง หวังเพิ่มขีดความสามารถรับผู้โดยสารจาก 6 แสนเป็น 3 ล้านคนต่อปี และเป็นทางเลือกหากรันเวย์ 3 สุวรรณภูมิไม่เกิด สั่ง บพ.-ทอท.ศึกษาร่วมกองทัพเรือ จัดการพื้นที่ไม่ให้กระทบความมั่นคง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และการปรับปรุงท่าอากาศยานสตูลและสุรินทร์ว่า ในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบเพื่อใช้ควบคู่กับสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองนั้นจะต้องหารือกับกองทัพเรือถึงการจัดการพื้นที่ และผลกระทบต่อความมั่นคง โดยได้มอบหมายให้กรมการบินพลเรือน (บพ.) ศึกษารายละเอียดและให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ศึกษาวิเคราะห์ความต้องการของสายการบินที่จะไปใช้บริการที่อู่ตะเภาว่ามีมากน้อยแค่ไหน โดยให้รายงานความคืบหน้าทุกเดือน

“ตอนนี้อู่ตะเภารองรับผู้โดยสารได้ 6 แสนคนต่อปี การพัฒนาสามารถเพิ่มขีดความสามารถให้รับเพิ่มเป็น 3 ล้านคนต่อปี เพราะจะเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกด้วย ซึ่งจะรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปยังภาคตะวันออกโดยไม่ต้องการเดินทางเข้ากรุงเทพฯก่อน จึงต้องมองภาพรวมในอนาคตโดยเฉพาะเที่ยวบินเช่าเหมาลำจะเพิ่มขึ้นแค่ไหน ซึ่งอาจต้องสร้างรันเวย์เพิ่มอีก 1 รันเวย์ จากที่มีอยู่รันเวย์เดียว เพื่อสำรองและเป็นทางเลือกกรณีที่สุวรรณภูมิไม่สามารถสร้างรันเวย์ที่ 3 ได้” รมว.คมนาคมกล่าว

ส่วนแนวทางการปรับปรุงสนามบินสุรินทร์ และสนามบินสตูล ให้กลับมาให้บริการได้ จากปัจจุบันที่ไม่มีเที่ยวบินใช้บริการนั้น เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้เป็นจุดเชื่อมต่อกับ AEC และกระจายการเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดและพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยให้ บพ.ศึกษาการพัฒนาและข้อจำกัดต่างๆ สรุปภายใน 1 เดือน ซึ่งเบื้องต้นทางจังหวัดสุรินทร์จะปรับปรุงโดยใช้งบ 50 ล้านบาท ซึ่งเดือนมีนาคมนี้ จะลงพื้นที่ตรวจสอบรายละเอียดก่อนสรุปแผนพัฒนา

นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาในส่วนของสนามบินสุรินทร์ และสนามบินสตูลนั้นได้มีการก่อสร้างสนามบินและได้ใช้งานก่อนหน้านี้ โดยสนามบินสุรินทร์อยู่ในความดูแลของกองทัพบก และสนามบินสตูลอยู่ในความดูแลของกองทัพอากาศ ในปัจจุบันไม่ได้มีการใช้บริการของเครื่องบิน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้มีการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายในกรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศ หอการค้า การท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารายละเอียดในส่วนของสนามบินสตูล ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือน ก.พ.จะดำเนินการเรื่องของคณะกรรมการชุดดังกล่าวแล้วเสร็จ และในส่วนของสนามบินสุรินทร์นั้น คาดว่าภายในเดือน มี.ค.นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมจะลงพื้นที่ตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง

สำหรับพื้นที่สนามบินสตูลนั้น มีความยาวของรันเวย์ที่ 1,100 เมตร กว้าง 40 เมตร พื้นผิวแอสฟัสติกคอนกรีต อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพอากาศ ส่วนพื้นที่ของสนามบินสุรินทร์ มีความยาวของรันเวย์ที่ 1,400 เมตร กว้าง 30 เมตร พื้นผิวแอสฟัสติกคอนกรีต อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพบกและมอบให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นผู้ดูแลให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยมีสายการบินแอร์อันดามัน เที่ยวบินกรุงเทพ-สุรินทร์ ทำการบิน เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 45 เปิดบินอยู่ 3 เดือนจึงได้มีการเลิกเที่ยวบิน
กำลังโหลดความคิดเห็น