xs
xsm
sm
md
lg

เร่งแก้ พ.ร.บ.เดินอากาศ เพิ่มสัดส่วนหุ้นต่างชาติลงทุนรับ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ชัชชาติ” สั่ง บพ.แก้ไข พ.ร.บ.เดินอากาศ ใหม่ทั้งฉบับ ให้คล่องตัวรองรับการลงทุนหลังเปิด AEC และสั่งกรมเจ้าท่าจัดเส้นทางเรือเฟอร์รี่เชื่อมสนามบินกระบี่และภูเก็ตลดความแออัด ด้าน บพ.มั่นใจไทยมีศักยภาพพร้อมแข่งขันทางการบิน เตรียมปรับปรุง 6 สนามบินภูมิภาครับเที่ยวบินเพิ่ม เผย ก.พ.ประกาศคุ้มครองผู้โดยสารเช่าเหมาลำได้

เมื่อวันที่ 25 มกราคม กรมการบินพลเรือน (บพ.) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การเตรียมความพร้อมด้านการขนส่งทางอากาศเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนผู้ประกอบการด้านการขนส่งทางอากาศและท่องเที่ยว ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อร่วมกันพัฒนาการขนส่งทางอากาศให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานและความปลอดภัย เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศและเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2558

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาธุรกิจและเทคโนโลยีด้านการบินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีสายการบินแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) สายการบินต้นทุนทำ (Low cost airline) เกิดขึ้นมาก ปัญหาคือ บพ.ปรับตัวทันกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมหรือไม่ การคุ้มครองดูแลผู้โดยสารทำได้แค่ไหน ครอบคลุมสายการบินทุกประเภทหรือไม่ ซึ่งได้มอบหมายให้บพ.ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ใหม่ทั้งฉบับ ไม่แก้ไขเป็นรายมาตราเหมือนที่ผ่านมาซึ่งทำมา 11 ครั้ง เหมือนปะผุ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและการเปิดเสรีอาเซียน โดยเฉพาะเรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้น ที่ปัจจุบันจำกัดให้ต้องเป็นคนไทยไม่ต่ำกว่า 51% ต่างชาติไม่เกิน 49%

“เรื่องแก้กฎหมายจะต้องดำเนินการ โดยให้ บพ.รวบรวมปัญหาที่เป็นข้อขัดแย้งกับการเปิดเสรีอาเซียน เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งนโยบายรัฐบาลต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินในอนาคต ทั้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ซึ่งต้องให้บริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน หรือการผลิตชิ้นส่วน ซัพพลายเชน จะต้องมีการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมถึงศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน ช่างซ่อม พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บพ.ต้องปรับตัวให้ทัน” นายชัชชาติกล่าว

นอกจากนี้ นโยบายของนายกรัฐมนตรีต้องการให้เน้นสนามบินภูมิภาค เช่น แม่สอดจะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ต้องทำใหญ่ แต่ให้รองรับได้ เน้นสายการบินขนาดเล็กเพื่อเชื่อมภูมิภาค

โดยเห็นว่า บพ.มี 2 บทบาทคือเป็นผู้ควบคุมกำกับกฎการบิน (Regulator) และบริหารสนามบิน 28 แห่งดังนั้น ต้องดูว่า สนามบินไหนที่มีกำไรทำเชิงพาณิชย์ได้ ก็อาจจะโอนให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) รับไป ส่วนที่ยังขาดทุนหรือยังไม่เป็นเชิงพาณิชย์เต็มที่อาจจะต้องรับบทบาทดูแลไปก่อน เช่น สนามบินกระบี่มีศักยภาพสูงมีแนวคิดจะทำการเชื่อมโยงการเดินทางกับท่าอากาศยานภูเก็ตของทอท.ที่มีความแออัดมากและการขยายรันเวย์ทำได้ยากโดยได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า (จท.) ศึกษาใช้เรือเฟอร์รี่เชื่อมระหว่าง 2 สนามบิน ซึ่งมีระยะห่างทางทะเล 70 กิโลเมตร เป็นการลดความแออัดโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดี บพ.กล่าวว่า การเปิดเสรีอาเซียนสอดคล้องกับภารกิจของบพ.ในการเชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำข้อตกลงร่วม 2 ฝ่าย หรือทวิภาคกับหลายประเทศ ส่วนอาเซียนนั้นจะเป็นการทำข้อตกลงการบินแบบพหุภาคีเพื่อให้ทั้ง 10 ประเทศอาเซียนสามารถเปิดเสรีการบินผู้โดยสารได้โดยไม่จำกัด จำนวน, ความจุ, ความถี่ ซึ่งจะทันในปี 2558 แน่นอน โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียนที่มีการลงนามในสัตยาบันก่อนและจะทำให้มีเที่ยวบินระหว่างประเทศเข้ามาทำการบินที่สนามบินหลักและรองของไทยมากขึ้น ทั้งที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. และของ บพ. เช่น ท่าอากาศยานนราธิวาส ซึ่งทางมาเลเซียเห็นว่า สายการบินจากรัฐกลันตันอาจจะเข้ามาทำการบิน หรือที่สนามบินแม่สอดที่มีความต้องการเดินทางมากขึ้น จะมีโอกาสในการเพิ่มเที่ยวบิน จากปัจจุบันที่มีสายการบินนกแอร์ให้บริการอยู่ 3 เที่ยวบินต่อวันหรือประมาณ 180 ที่นั่ง

ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมในส่วนของ บพ.เพื่อเข้าสู่ AEC นั้นปัจจุบัน บพ.มีสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งหมด 28 แห่ง (สนามบินตาก /น่าน/พิษณุโลก/แพร่/เพชรบูรณ์/แม่สอด/แม่ฮ่องสอน/ลำปาง/ปาย/แม่สะเรียง/ขอนแก่น/นคราชสีมา/นครพนม/บุรีรัมย์/ร้อยเอ็ด/เลย/สกลนคร/อุดรธานี/กระบี่/ชุมพร/ตรัง/นครศรีธรรมราช/นราธิวาส/ปัตตานี/ระนอง/สุราษฎร์ธานี และหัวหิน) แต่ไม่มีเที่ยวบินให้บริการ 2 แห่ง คือ ตาก และปัตตานี โดยสนามบินที่มีศักยภาพรองรับ AEC ในจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดน รวม 6 แห่ง คือ แม่สอด เบตง อุบลราชธานี อุดรธานี นราธิวาสและนครราชสีมา

โดยสนามบินแม่สอดจะมีการขยายทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน 550 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร 210 ล้านบาท จัดซื้อที่ดินและชดเชย 98 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาออกแบบ 4 ล้านบาท ดำเนินการปี 2558-2559 โดยใช้เงินใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท สนามบินเบตง จะลงทุนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารและสิ่งอำนวยความสะดวกประมาณ 1,000 ล้านบาท สนามบินอุบลราชธานี ปรับปรุงและเพิ่มลานจอดอากาศยาน วงเงิน 300 ล้านบาท สนามบินอุดรธานี ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเก่าเพื่อแยกการบริการเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศ วงเงิน 270 ล้านบาท สนามบินนครราชสีมา เพิ่มรันเวย์ให้ยาว 2,500 เมตร เพื่อรองรับโบอิ้ง 747 และแอร์บัส วงเงิน 400 ล้านบาท

“ข้อมูลจากบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) พบว่า ขณะนี้มีเที่ยวบินจากต่างประเทศบินเข้ามาเพิ่มขึ้น 12%ต่อเดือน ทั้งแบบเช่าเหมาลำและแบบประจำ ซึ่งที่ผ่านมา บพ.ได้ออกใบอนุญาตให้สายการบินใหม่ไปแล้ว 5 ราย อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงคมนาคมอนุมัติอีก 5 ราย เช่น ยู แอร์ไลน์, ไทยรีเจียนัล แอร์ไลน์ เป็นต้น โดยช่วงตารางบินฤดูร้อนนี้คาดว่าจะมีสายการบินใหม่ๆ ไม่น้อยกว่า 10 รายที่จะเปิดให้บริการ ส่วนประเทศในอาเซียนอาจจะยังกลัวกเรปิดเสรี เช่น ลาว เพราะประเทศค่อนข้างเล็ก อินโดนีเซียยังมีปัญหาที่ทาง FAA ของอเมริกาลดเกรดหรือลดระดับประสิทธิภาพการบิน จะกระทบในการบินไปนอกทวีปซึ่งทางอินโดนีเซียกำลังเร่งปรับตัว” นายวรเดชกล่าว

ส่วนการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินเช่าเหมาลำนั้น นายวรเดชกล่าวว่า ได้ร่างประกาสกระทรวงคมนาคมแล้ว โดยกำหนดเงื่อนไขหลัง คือ สายการบินต้องวางเงินค้ำประกันไว้ที่บพ.อัตราเท่ากับมูลค่าที่ขายตั๋วให้กับผู้โดยสาร เพื่อการันตีและนำไปดูแลผู้โดยสารกรณีที่สายการบินเกิดปัญหา, ต้องมีเครื่องบินให้บริการมากกว่า 1 ลำ กรณีมีเครื่องบินลำเดียวเมื่อไปส่งแล้วจะต้องรอรับผู้โดยสารหรือบริการแบบ Round Trip และ ต้องมีสายการบินพันธมิตรรองรับกรณีที่มีปัญหาให้สามารถนำเครื่องบินของพันธมิตรมาให้บริการได้ โดยจะประชุมทำความเข้าใจกับสายการบินเช่าเหมาลำในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ก่อน จากนั้น รมว.คมนาคมจะลงนามประกาศเพื่อบังคับใช้คาดว่าจะมีผลประมาณเดือนกุมภาพันธ์นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น