xs
xsm
sm
md
lg

อุตฯ เผยยอดขอส่งเสริมลงทุนปี 55 ทะลุ 1.4 ล้านล้าน เติบโตสูงถึง 131%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตสาหกรรมเผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในปี 2555 ที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 1,464,200 ล้านบาท ขยายตัวมากกว่าปี 2554 ถึงร้อยละ 131 สะท้อนไทยยังเนื้อหอมสำหรับการเป็นฐานการลงทุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมั่นใจ การลงทุนในปีนี้ 2556 จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง บีโอไอมั่นใจยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่แข่งขันกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามได้ และจะช่วยผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตชั้นนำของโลกด้วย

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้รายงานถึงภาพรวมการลงทุนในปี 2555 (มกราคม-ธันวาคม) มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 2,582 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 1,464,200 ล้านบาท&nbs p; โดยจำนวนโครงการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 เมื่อเทียบกับปี 2554 ที่มีทั้งสิ้น 1,990 โครงการ ด้านมูลค่าเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 131 เมื่อเทียบกับปี 2554 ที่มีมูลค่าเงินลงทุน 634,200 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2555 ก่อให้เกิดการจ้างงาน 348,866 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.6 เมื่อเทียบกับอัตราการจ้างงานปี 2554 ที่มีจำนวน 215,845 คน

ทั้งนี้ กิจการที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุนสูงสุด เป็นกลุ่มกิจการบริการและสาธารณูปโภค ยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 790 โครงการ เงินลงทุนรวม 607,800 ล้านบาท รองมาเป็นกิจการกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่อจักร และอุปกรณ์ขนส่ง จำนวน 610 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 255,400 ล้านบาท ตามด้วยกิจการเคมี กระดาษ และพลาสติก จำนวน 327 โครงการ เงินลงทุน 234,800 ล้านบาท

อันดับ 4 คือ กลุ่มกิจการอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องไฟฟ้า จำนวน 347 โครงการ เงินลงทุน 167,600 ล้านบาท กลุ่มกิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร จำนวน 331 โครงการ เงินลงทุน 94,800 ล้านบาท กลุ่มกิจการเหมืองแร่ เซรามิก และโลหะขั้นมูลฐาน จำนวน 75 โครงการ เงินลงทุน 58,900 ล้านบาท และกลุ่มกิจการอุตสาหกรรมเบา จำนวน 102 โครงการ เงินลงทุน 45,000 ล้านบาท ตามลำดับ

ทั้งนี้ การขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2555 มีกิจการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท ยื่นขอส่งเสริมจำนวนมากถึง 274 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 1,049,400 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการในกลุ่มพลังงานทดแทน ยานยนต์ บริการและสาธารณูปโภค อาทิ กิจการขนส่งทางอากาศ อิเล็กทรอนิกส์ ยางรถยนต์ ปิโตรเคมี การผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

นายประเสริฐกล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนในปี 2556 ด้วยว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ามีโครงการขนาดใหญ่บางส่วนได้ยื่นขอส่งเสริมไปแล้วช่วงปลายปี 2555 เพื่อขอรับส่งเสริมล่วงหน้าก่อนที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจะหมดระยะเวลาให้ส่งเสริมสิ้นปี 2555 แต่ยังมีการลงทุนอีกมากที่จะเข้ามาในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

“ส่วนเป้าหมายของการส่งเสริมการลงทุนในปี 2556 นี้ บีโอไอมิได้มุ่งเน้นด้านมูลค่าเงินลงทุน แต่จะมุ่งเน้นในเชิงคุณค่าและประโยชน์จากการลงทุนที่เกิดแก่ประเทศชาติเป็นหลัก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

นอกจากนี้ นายประเสริฐยังกล่าวถึงความพร้อมในการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ : เพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 14 มกราคม 2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการและผู้สนใจตอบรับเข้าร่วมงานสัมมนาแล้วประมาณ 1,200 คน จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ประมาณ 1,200-1,500 คน แสดงให้เห็นถึงความสนใจของภาคเอกชนที่มีต่อการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของประเทศ ซึ่งบีโอไอจะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกจากงานสัมมนาทั้งหมด 5 ครั้งที่จะทยอยจัดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ด้วย

การจัดสัมมนาในภูมิภาคจะประกอบไปด้วย ภาคตะวันออกที่จังหวัดชลบุรี วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม 2556 ที่โรงแรมเดอะซายน์ พัทยา, ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดนครราชสีมา วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 ที่โรงแรมสีมาธานี และภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 ที่โรงแรมไดมอนด์ พลาซา

ทั้งนี้ ร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมและพัฒนาให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และสามารถยกระดับห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในแต่ละภูมิภาคหรือพื้นที่ชายแดน เพื่อกระจายความเจริญ นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการลดภาระทางการคลังของประเทศ โดยใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนมีเป้าหมายในการเพิ่มบทบาทใหม่ของบีโอไอเพื่อสามารถให้บริการและการอำนวยความสะดวกที่ดีขึ้นทั้งก่อนและหลังการลงทุน ทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวถึงร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ ว่าจะเน้นการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ฐานความรู้หรือเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะที่พัฒนาจากทรัพยากรในประเทศ และมีความจำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และสามารถแข่งขันได้ รวมทั้งเปลี่ยนการส่งเสริมตามเขตพื้นที่เป็นการส่งเสริมให้เกิด คลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาค อาทิ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยางพารา คลัสเตอร์อุตสาหกรรมแฟชั่น คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอากาศยาน คลัสเตอร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น

เลขาธิการบีโอไอกล่าวด้วยว่า การปรับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอจะไม่กระทบต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งมั่นใจว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีของไทยมีศักยภาพสูงและสามารถดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายในการส่งเสริมตามนโยบายใหม่ได้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น