“บีโอไอ” กางยุทธศาสตร์ลงทุนใหม่ระยะ 5 ปี (ปี 56-60) ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้กลางปีหรือ มิ.ย.นี้ เอกชนขานรับแต่ยังมีบางรายละเอียดควรปรับ “หอการค้าต่างประเทศ” ติงยกเลิกเขตส่งเสริมฯ อาจยิ่งฉุดการลงทุนไม่ให้ไปต่างจังหวัดเหตุไทยมีนโยบายค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ 300 บ./วัน
บรรยากาศของงานสัมมนารับฟังความเห็น “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ : เพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” เมื่อ 14 ม.ค. 56 ว่า ร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2556 - 2560 ) ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเย็นเป็นไปด้วยความคึกคักโดยมีผู้เข้ามาร่วมรับฟังถึง 1,500 คนทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศ
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการเปิดงานว่า คาดว่ายุทธศาสตร์ใหม่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนนี้ และจะเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศใหม่เพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศลดภาระการคลังด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนโยบายใหม่จะมีผลบังคับใช้กับการยื่นคำขอส่งเสริมการลงทุนใหม่เท่านั้น
นายนันดอร์ วอน เดอร์ ลู ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศ ประจำประเทศไทย กล่าวในช่วงการอภิปราย “วิพากษ์ทิศทางยุทธศาสตร์การส่งเสริมลงทุนใหม่” ว่า ภาพรวมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่กำหนดเป้าหมายส่งเสริมฯอุตสาหกรรมชัดเจนขึ้นและจะเน้นเป็นรายคลัสเตอร์โดยจะยกเลิกให้สิทธิประโยชน์ตามเขตส่งเสริมฯ 1, 2 และ 3 แต่วิธีนี้บีโอไอจะต้องพิจารณาให้ดีเนื่องจากรัฐมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ก็จะยิ่งลดแรงจูงใจให้การลงทุนไปต่างจังหวัดยิ่งน้อยลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ การส่งเสริมกิจการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาหรือ R& D นั้นข้อจำกัดที่แท้จริงของไทยอยู่ที่การพัฒนาคนโดยจะต้องเน้นนโยบายการศึกษาให้มากขึ้น ส่วนการยกเลิกประเภทกิจการบางประเภท เช่น ธุรกิจดาวเทียมโทรคมนาคม เห็นว่าน่าจะทบทวนเพราะกิจการดังกล่าวมีความสำคัญที่เป็นพื้นฐานของประเทศ อย่างไรก็ตามเหนือสิ่งอื่นใดการทำงานแบบบูรณาของแต่ละส่วนจะเอื้อต่อการลงทุนที่ดีด้วย
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการที่บีโอไอเสนอมาแต่ต้องการให้ภาครัฐทุกหน่วยงานทำงานแบบบูรณาการในการส่งเสริมการลงทุนเพราะต่อไปจะต้องมองในระดับภูมิภาคเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการทั้งหมดถือว่ามาถูกทางแต่ต้องการให้มองการลงทุนคลัสเตอร์ที่เป็นระดับภูมิภาคที่ไทยจะเข้าสู่ AEC ด้วยเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและลงทุน
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอกล่าวว่า นโยบายใหม่ดังกล่าวคาดว่าจะประกาศใช้ภายในกลางปีนี้เพื่อที่จะเป็นปรับโฉมโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศเพราะจะปรับให้การส่งเสริมฯการลงทุนมีเป้าหมายชัดเจนเน้น 10 กลุ่มอุตสาหกรรรมเป้าหมายได้แก่ 1. กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและลอจิสติกส์ 2. กลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานเช่น เหล็ก ปิโตรเคมี เยื่อและกระดาษ เครื่องจักร 3. กลุ่มอุตฯ การแพทย์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์
4. กลุ่มอุตฯ พลังงานทดแทนและบริการด้านสิ่งแวดล้อม 5. กลุ่มธุรกิจบริการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม เช่น R&D 6.กลุ่มเทคโนโลยีพื้นฐานขั้นสูง 7. อุตฯ อาหารและแปรรูปสินค้าเกษตร 8. อุตสาหกรรม Hospitality & Wellness 9.อุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง 10. อุตฯ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
“ปัจจุบันบีโอไอจะส่งเสริมฯ 240 กว่ากิจการการปรับใหม่คือจะยกเลิกส่งเสริมฯ ส่งเสริม 80 กิจการ และยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์เป็นรายเขต (เขต 1, 2, 3) เป็นการเน้นคลัสเตอร์และมีเป้าหมายอุตฯ ชัดเจนขึ้นซึ่งจะเหลือราว 130 กิจการที่จะเข้าสู่เป้าหมายใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาการส่งเสริมฯรายเขตชัดเจนว่าการลงทุนยังคงกระจุกตัวในเมืองอยู่” นายอุดมกล่าว
สำหรับ 80 กิจการที่จะยกเลิกให้การส่งเสริมฯ ระหว่างนี้ก็ยังเปิดโอกาสให้ยื่นลงทุนได้จนกว่านโยบายใหม่จะมีผลบังคับใช้ โดย 80 กิจการที่ยกเลิกเช่น กิจการปลูกป่า ฆ่าชำแหละสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร กิจการห้องเย็น บริหารจัดการฟาร์ม ประมงน้ำลึก กิจการผลิตลูกอม ช็อกโกแลต และหมากฝรั่ง กิจการถลุง แร่ การทำเหมืองแร่หรือแต่งแร่ ผลิตภัณฑ์เซรามิก การผลิตแผ่นยิปซั่ม กิจการผลิตด้าย ผ้า เครื่องนุ่งห่ม พรม แห อวน
รองเท้าหรือชิ้นรองเท้า ของเล่น จักรยานยนต์ 4 จังหวะ ยานพาหนะและเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ กิจการทางสัมปทาน กิจการโทรคมนาคมดาวเทียม กิจการบริการโทรศัพท์ สถานีบริการก๊าซธรรมชาติ กิจการนิคมอุตสาหกรรมเพื่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้แก่ นิคมฯ สิ่งทอครบวงจร นิคมฯสำหรับกิจการฟอกหนัง กิจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และรถไฟขนส่งสินค้า กิจการขนส่งทางท่อ เป็นต้น