บีโอไอเผยผลงานจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่กำลังจะหมดระยะเวลาให้การส่งเสริมในเดือนธันวาคม 2555 โดยนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการยื่นขอรับส่งเสริมมากกว่า 500 โครงการ เป็นกิจการประหยัดพลังงานและพลังงานทดแทนมากถึง 239 โครงการ ตามด้วยกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 236 โครงการ และมีกิจการต่างๆ ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อการประหยัดพลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีก 42 โครงการ
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงเรื่องมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ซึ่งจะหมดระยะเวลาให้ยื่นขอรับส่งเสริมในเดือนธันวาคม 2555 นี้ว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำคัญๆ ที่จะหมดอายุลงในปีนี้ ก่อให้เกิดการลงทุนในกิจการเป้าหมายและเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากมาย เช่น กิจการพลังงานทดแทน กิจการประหยัดพลังงาน กิจการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่จะหมดอายุลงในปีนี้ ประกอบไปด้วย 1. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2. มาตรการด้านภาษีอากรเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย 3. มาตรการเพิ่มเติมด้านภาษีอากรเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย 4. มาตรการส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ 5. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ มีการยื่นขอรับส่งเสริมภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมากที่สุด รวมจำนวน 522 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 610,000 ล้านบาท (ตั้งแต่เมษายน 2553 - ตุลาคม 2555) และจากจำนวนดังกล่าวพบว่า มีการยื่นขอรับส่งเสริมในกลุ่มกิจการประหยัดพลังงานและพลังงานทดแทนมากที่สุด จำนวน 239 โครงการ เงินลงทุนรวม 429,646 ล้านบาท รองลงมาเป็นการยื่นขอรับส่งเสริมในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จำนวน 236 โครงการ เงินลงทุนรวม 162,872 ล้านบาท
ตามด้วยกิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อการประหยัดพลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 42 โครงการ เงินลงทุนรวม 16,058 ล้านบาท ที่เหลือเป็นกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกิจการที่ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ รวม 5 โครงการ เงินลงทุนรวม 1,424 ล้านบาท
“กิจการส่วนใหญ่ที่ยื่นขอรับส่งเสริมภายใต้มาตรการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายที่บีโอไอต้องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกิจการพลังงานทดแทน กิจการประหยัดพลังงาน กิจการที่ใช้ไฮเทคโนโลยี และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของบีโอไอประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว
สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤติอุทกภัย ปรากฏว่า มีการยื่นขอรับส่งเสริมในส่วนของกิจการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จำนวน 136 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 113,299 ล้านบาท และมีกิจการใหม่ที่ยื่นขอลงทุนในพื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วม จำนวน 22 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 9,990 ล้านบาท
ส่วนมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ นั้นมียื่นขอรับส่งเสริม 2 โครงการ เงินลงทุนรวม 605 ล้านบาท ส่วนของมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการยื่นขอรับส่งเสริม 4 โครงการ เงินลงทุนรวม 285 ล้านบาท