xs
xsm
sm
md
lg

“หมอภิรมย์” ยันไม่เอา พท.อุเทนฯไปทำการค้า เล็งถก “พงศ์เทพ” หาที่ทดแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอภิรมย์” ยันพื้นที่อุเทนถวาย อยู่ในโซนจัดการศึกษาไม่ใช้ทำธุรกิจเชิงพาณิชย์แน่นอน เล็งหารือ “พงศ์เทพ” หาที่ใหม่ให้ แจงกรณี ร.ร.ปทุมวัน ต่างกับอุเทนถวาย และเป็นเรื่องที่ กทม.ต้องจัดหาที่ใหม่ให้แทน

ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กรณีการขอคืนพื้นที่จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ว่า จุฬาฯกำหนดการใช้ประโยชน์จากที่ดินของมหาวิทยาลัย ดังนี้ พื้นที่การศึกษา ประมาณ 51% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ด้านหอประชุมใหญ่ รวมไปถึงวิทยาเขตอุเทนถวาย,พื้นที่เพื่อธุรกิจ 20% และพื้นที่ที่ให้ส่วนราชการต่างๆ เช่า 20% ดังนั้น ขอยืนยันว่า พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของวิทยาเขตอุเทนถวาย จำนวน 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาที่จุฬาฯ มีเป้าหมายชัดเจนว่าไม่มีการนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์โดยเด็ดขาด แต่ได้มีแผนเตรียมการจะนำไปพัฒนาเป็นศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ในการเสริมสร้างการแข่งขันของประเทศ รวมไปถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล
อย่างไรก็ตาม วิทยาเขตอุเทนถวายได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่ดังกล่าวกับจุฬาฯ ตั้งแต่ปี 2478-2546 เป็นเวลา 68 ปี และตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 เป็นต้นมา จุฬาฯก็ได้เริ่มเจรจาขอคืนพื้นที่มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 38 ปีแล้ว และที่ผ่านมาก็มีการเจรจาเพื่อหาทางขอคืนพื้นที่จากอุเทนถวายฯมาโดยตลอด ซึ่งทางจุฬาฯ ก็พยายามหาทางช่วยเหลือ เพราะหากยังไม่มีสถานที่แห่งใหม่ อุเทนถวายก็ย้ายไปไม่ได้ จึงได้ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กรมธนารักษ์ ขอความอนุเคราะห์จัดหาพื้นที่ให้อุเทนถวาย โดยในปี พ.ศ.2545 กรมธนารักษ์ได้จัดหาพื้นที่ให้จำนวน 36 ไร่ ที่ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ส่วน ครม.ก็จะจัดสรรงบให้เพื่อการก่อสร้างและขนย้ายประมาณ200 ล้านบาท ซึ่งอุเทนถวายได้ทำบันทึกข้อตกลงกับจุฬาฯ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2547 ว่าจะขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้จุฬาฯภายในวันที่ 30 ก.ย.2548 หากจำเป็นก็จะผ่อนผันให้ไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น

อธิการจุฬาฯ กล่าวต่อว่า ต่อมาปี 2548 ก็ได้มีการทำบันทึกร่วมกัน 4 ฝ่าย ได้แก่ จุฬาฯ, สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน), สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และอุเทนถวายฯ ที่ตกลงกันว่าอุเทนถวายฯจะย้ายไปก่อสร้างสถาบันใหม่ที่ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และจะย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พ.ย.2548 จากนั้นเมื่อสิ้นสุดสัญญา สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ฯ ก็จะเข้ามาใช้พื้นที่นี้ต่อ แต่การย้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ และจุฬาฯก็ได้ทำหนังสือขอให้อุเทนถวายคืนพื้นที่ให้จุฬาฯอีก 3 ครั้งคือ วันที่ 6 ธ.ค.2549, วันที่ 13 ก.พ.2550 และวันที่ 10 ก.ค.2550 ซึ่งในปี 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ซึ่งระหว่างนั้นสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกา 2 ครั้ง และปี 2552 กยพ.ก็มีมติชี้ขาดโดยให้อุเทนถวาย ขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้จุฬาฯ และชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ ส่วนผลการทูลเกล้าถวายฎีกานั้น สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ.อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจุฬาฯ ก็ไม่ได้ทวงเงินค่าเสียหายจากอุเทนถวายแต่อย่างใด

ผมเข้าใจดีและรู้สึกเห็นใจอุเทนถวาย เพราะการจะย้ายไปที่แห่งใหม่ได้ ก็ต้องมีพื้นที่ใหม่รองรับ ได้รับงบสนับสนุนการก่อสร้างอาคาร และการขนย้าย ที่ผ่านมากรมธนารักษ์ให้ที่ดินที่ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ แต่เมื่อไม่มีการย้ายไป กรมธนารักษ์ก็ใช้พื้นที่เพื่อการอื่นไปแล้ว และก็มีหน่วยราชการเสนอที่ให้ที่ ต.ศาลายา จ.นครปฐม แต่ก็ย้ายไม่สำเร็จ และพื้นที่ก็ถูกใช้ไปแล้วเช่นกัน ดังนั้นการจะแก้ไขกรณีของอุเทนถวายได้ ต้องขอความร่วมมือจากรัฐบาล ศธ.และหน่วยงานต่างๆ จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมให้ รวมไปถึงงบด้วย และเราก็คงต้องหารือกันให้เข้าใจทุกฝ่าย ซึ่งจุฬาฯก็พร้อมเจรจาหาข้อยุติ” อธิการบดีจุฬาฯ กล่าว

ศ.นพ.ภิรรมย์ กล่าวชี้แจงกรณีโรงเรียนปทุมวันด้วยว่า กรณีโรงเรียนปทุมวัน เป็นคนละกรณีกับ อุเทนถวาย เพราะพื้นที่ของ โรงเรียนปทุมวัน เป็นส่วนที่จุฬาฯมีแผนแม่บทที่จะปรับปรุงพื้นที่ส่วนนั้น เป็นสวนสาธารณะสำหรับคนกรุงเทพฯ และขยายพื้นที่ถนน จุฬาฯซอย 5 ให้กว้างขึ้นเพื่อลดปัญหาจราจร โดยจะรวมศูนย์ราชการของกทม.ไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนบริเวณนั้น ได้แก่ สถานีตำรวจปทุมวัน สถานีดับเพลิงปทุมวัน ศูนย์บริการสาธารณสุขกทม. ส่วนโรงเรียนปทุมวัน นั้น เป็นเรื่องที่ กทม.จะจัดการ เพราะ กทม.ก็ประสบปัญหา โรงเรียนมีขนาดเล็กลงจำนวนนักเรียนเข้าเรียนลดลง โดยเขตปทุมวันมี โรงเรียนประถม 8 แห่ง และมีโครงการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อการบริหารจัดการ และที่ผ่านมา จุฬาฯก็ได้หารือร่วมกับ สำนักงานการศึกษา กทม., โรงเรียนปทุมวัน และตัวแทนจาก กทม.ซึ่งก็เข้าใจกันดี แต่เมื่อมีประชาชนเดือดร้อน จุฬาฯก็จะหารือกับทุกฝ่ายอีกครั้ง เพื่อไม่ให้เด็กเดือดร้อน เพราะไม่ใช่ความผิดของเด็กและผู้ปกครอง หาก สำนักการศึกษา กทม.เห็นว่า จะคงโรงเรียนปทุมวันไว้ และยุบรวมโรงเรียนอื่นมาไว้ที่นี่ ก็ต้องหารือว่า จะวางแผนจัดการศูนย์ราชการของเขตปทุมวันอย่างไร ต่อไป

ด้าน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ในเรื่องการขอสนับสนุนงบประมาณเพื่อการย้ายอุเทนถวาย นั้น ขณะนี้ ตนยังไม่รู้ละเอียดแน่ชัดต้องขอเวลาหารือกับทางจุฬาฯ และพูดคุยกันให้ครบถ้วนทุกประเด็นก่อน ซึ่งทราบว่าทางจุฬาฯ ได้ประสานเพื่อขอเข้าพบตนแล้วแต่ยังไม่กำหนดวันนัดหมายอย่างเป็นทางการ
กำลังโหลดความคิดเห็น