ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เผยโครงการเหมืองโปแตซอุดรธานีรุกพื้นที่ทหาร ทำเหมืองใต้ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตเกือบ 200 ไร่ เป็นทั้งที่ตั้งคลังน้ำมัน คลังกระสุน และวัตถุระเบิด กลุ่มอนุรักษ์แฉซ้ำ นายทุนเล่นเล่ห์เตรียมส่งรายงานอีไอเอต่อสผ. ถือว่าไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน
วันนี้ (12 ก.พ.) แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน เปิดเผยว่า จากการที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้ร้องเรียนมายัง กสม. ขอให้ตรวจสอบปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ของบริษัท เอเชียแปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเด็นขั้นตอนการยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดิน 4 แปลง เนื้อที่กว่า 2.6 หมื่นไร่
จากการตรวจสอบเบื้องต้น กองทัพบกได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นเอกสารต่อประธานอนุกรรมการว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ยังไม่ได้ขออนุญาตใช้พื้นที่สำหรับประกอบกิจการทำเหมืองแร่ลึกลงไปจากผิวดินเกินกว่า 100 เมตร ตาม พ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่ 5) 2545 โดยในคำขอประทานบัตรแปลงที่ 1 รุกล้ำเข้าไปในเขตทหาร กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 ค่ายยุทธศิลป์ประสิทธิ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน คลังน้ำมัน คลังกระสุน และวัตถุระเบิดเกือบ 200 ไร่
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนผู้ขอใช้หรือผู้ประกอบการจะต้องยื่นขอใช้พื้นที่ต่อกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 13 และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 ซึ่งเป็นหน่วยใช้ประโยชน์ในที่ดินก่อน เพื่อพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับที่ตั้งหน่วย แล้วรายงานมณฑลทหารบกที่ 24 หน่วยปกครองที่ดิน กองทัพภาคที่ 2 และกองทัพบกพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามลำดับ กรณีกองทัพบกไม่เห็นด้วยให้เป็นอันยุติเรื่อง กรณีพิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง ผู้ขอใช้หรือผู้ประกอบการ ต้องทำเรื่องขอใช้พื้นที่กับธนารักษ์พื้นที่อุดรธานีพิจารณา จนถึงอธิบดีกรมธนารักษ์อนุมัติ
“โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี คาดว่าจะมีผลกระทบต่อหน่วยของกองทัพบก แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดทำเรื่องขอใช้พื้นที่มายังกองทัพบก หรือหน่วยงานของกองทัพใน จ.อุดรธานีแต่อย่างใด” แหล่งข่าวกล่าว
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยว่า กลุ่มอนุรักษ์ได้ร้องเรียนให้ กสม.และทหารตรวจสอบประเด็นนี้ ซึ่งพบว่านอกจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 แล้ว พื้นที่เหมืองแร่ยังครอบคลุมค่ายทหารอื่น ได้แก่ ค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา ที่มีหน่วยงานที่สำคัญ คือ กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 2 สำนักงานทหารพัฒนาภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด
“บริษัทฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่เหมืองที่รุกล้ำเข้าไปจากกองทัพบก แต่ปรากฏว่าบริษัทได้ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เสร็จแล้ว และเตรียมนำส่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณา ประเด็นอยู่ที่ว่า ถ้าทหารไม่ให้ใช้พื้นที่แสดงว่าขอบเขตเหมืองมีความคลาดเคลื่อน และอีไอเอย่อมไม่ถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมายด้วย”