อุดรธานี - กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกองทัพภาคที่ 2 เชิญตัวแทนหน่วยงานตามแนวชายแดนสัมมนาเส้นเขตแดนไทย-ลาว กรณีปัญหาเกาะ-ดอน หลังประชาชนสองฝั่งขัดแย้งเรื่องที่ทำกินบ่อยครั้ง พร้อมเตรียมเผยแพร่ข้อมูลให้ชาวบ้านนำไปปฏิบัติลดข้อพิพาท
วันนี้ (21 ม.ค.) กระทรวงการต่างประเทศ และกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ส่วนแยก 1 ร่วมกันประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาเส้นเขตแดนไทย-ลาว ในระดับพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยมี พล.ต.ประวิทย์ หูแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 2 เป็นประธานเปิดการประชุมที่โรงแรมนภาลัย อ.เมือง จ.อุดรธานี มีทหาร ฝ่ายปกครอง และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามแนวชายแดนรวม 63 คนเข้าร่วม
พล.ต.ประวิทย์กล่าวว่า สืบเนื่องจากแนวลำน้ำเหือง และแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดนประเทศไทยและลาวที่มีระยะทาง 804 กิโลเมตร และจากสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เกิดปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนของเส้นเขตแดน และกรรมสิทธิ์เหนือเกาะ-ดอน ตามแนวลำน้ำเหืองและแม่น้ำโขง รวมถึงความเกี่ยวพันในการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นเหตุนำไปสู่ความขัดแย้งบ่อยครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายไทยเสียเปรียบมาโดยตลอดเนื่องจากความไม่เข้าใจปัญหาและแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนของคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนไทย-ลาวระดับพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานความมั่งคงและประชาชนในพื้นที่
“ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทในการสำรวจ จัดทำหลักเขตแดนน้ำร่วมกัน คาดว่าจะมีหลายพื้นที่น่าจะเป็นปัญหาไม่สามารถตกลงกันได้ โดยทั้งสองฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ ดังนั้นการสัมมนาในครั้งนี้ก็เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความรู้ และระดมแนวคิดในการแก้ปัญหาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้การแก้ไขเส้นเขตแดนของฝ่ายไทยไม่เสียเปรียบ และเพื่อให้ผู้นำชุมชน ฝ่ายปกครองสามารถให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ เรื่องอนุสัญญาสยาม- ฝรั่งเศส พ.ศ. 2469 ได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องการทำกินบนเกาะ-ดอน และเพื่อปลุกจิตสำนึกประชาชนต่อการรักษาความมั่นคงและป้องกันอธิปไตยด้วย”
พล.ต.ประวิทย์กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะไม่เอาไปใช้พิจารณาผลักดันการปักปันแบ่งเส้นเขตแดน แต่เพียงเป็นการสื่อสารกับประชาชนของเราเวลาออกไปทำมาหากินว่าควรทำเช่นไร จะได้ไม่มีเงื่อนไขตามมาทีหลัง หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหรือมีปัญหาอะไรควรจะทำอย่างไร ซึ่งจะเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป แต่หากเห็นว่าฝั่งเขามาทำอะไร จะมีปัญหากับเราไหม หรือเข้ามารุกล้ำ ก็ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบ
“การปักปันเขตแดนทางบก เรามีคณะกรรมการเขตแดนร่วมหรือเจบีซีดูแล โดยในส่วนของภาคอีสานตอนบน 5 จังหวัดปักปันเขตแดนไปแล้วถึง 96%”