xs
xsm
sm
md
lg

ทหารไทย-เขมรถก “RBC” ที่โคราชชื่นมื่น-อ้างเหยียบบึ้มเจ็บ 3 แค่เชื้อปะทุค้างเก่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.จีระศักดิ์ ชมประสพ แม่ทัพภาคที่ 2  ของไทย กับ พล.อ.เจีย มอน รองผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการภูมิภาคทหารที่ 4 กัมพูชา จับมือชื่นมื่นหลังแถลงผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-กัมพูชา ด้าน กองทัพภาคที่ 2  และ ภูมิภาคทหารที่ 4  ปี 2556  ที่โรงแรมสีมาธานี จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 13 ธ.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กองทัพภาคที่ 2 ของไทย และภูมิภาคทหารที่ 4 กัมพูชา ประชุมอาร์บีซีที่โคราชชื่นมื่น แม่ทัพภาคที่ 2 เผยเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ส่วนกรณีทหารไทยเหยียบกับระเบิดเจ็บ 3 นาย อ้างแค่เชื้อปะทุค้างเก่า ไม่ใช่ทุ่นระเบิดวางใหม่

วันนี้ (13 ธ.ค.) ที่โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-กัมพูชา (อาร์บีซี) ระหว่างกองทัพภาคที่ 2 ของไทย และภูมิภาคทหารที่ 4 ของกัมพูชา ประจำปี 2556 ครั้งที่ 16 โดยมี พล.ท.จีระศักดิ์ ชมประสพ แม่ทัพภาคที่ 2 เป็นประธานการประชุม ร่วมกับ พล.อ.เจีย มอน รองผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการภูมิภาคทหารที่ 4 กัมพูชา ซึ่งที่ประชุมใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนฝ่ายไทยเข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยให้เวลาบันทึกภาพในห้องประชุมเพียง 1 นาทีเท่านั้น แต่กลับอนุญาตให้สื่อมวลชนกัมพูชาเข้าร่วมสังเกตการณ์อตลอดเวลา หลังเสร็จสิ้นการประชุมทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมถ่ายภาพและมอบของที่ระลึกให้กัน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น ก่อนที่ผู้นำของทั้ง 2 ฝ่ายจะเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

พล.ท.จีระศักดิ์กล่าวว่า การประชุมวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นในทุกภาคส่วน ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะความมั่นคงและปลอดภัยของราษฎรทั้งไทยและกัมพูชา โดยในที่ประชุมได้มีการหารือประเด็นความร่วมมือ ดังนี้ คือ 1. ความร่วมมือในการรักษาความมั่นคง และการรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อขจัดปัญหาต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ให้มีความสอดคล้องและมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของความสัมพันธ์อันดี

2. ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดต่างๆ ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เช่น ปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า, ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย, ปัญหาการลักลอบนำเข้ายาเสพติด, ปัญหาลักลอบค้าสินค้าหนีภาษี โดยเฉพาะเรื่องแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เน้นให้มีการพิสูจน์สัญชาติเพื่ออำนวยความสะดวกในการออกหนังสือเดินทาง โดยที่ประชุมได้จัดตั้งคณะทำงานประสานกันขึ้นเพื่อให้เกิดความใกล้ชิด ลดปัญหาที่มีในปัจจุบันให้ดีขึ้น

3. ความร่วมมือในการกวดขันการสัญจรข้ามแดน และจุดผ่านด่านเพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมความสัมพันธ์ของราษฎรทั้งสองฝ่ายให้เป็นไปตามความตกลงว่าด้วยการสัญจรข้ามแดนระหว่างไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะการใช้เอกสารผ่านแดนที่ถูกต้อง รวมทั้งหารือในการเปิดจุดผ่านแดน หรือการขอยกระดับจุดผ่านแดนให้เป็นไปตามแนวทางสากลร่วมกัน

4. การสถาปนาเมืองคู่มิตร และโครงการหมู่บ้านคู่ขนานตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ตามนโยบาลของรัฐบาลของทั้งสองฝ่าย เพื่อพัฒนาพื้นที่ชายแดนในทุกๆ ด้าน ซึ่งเราพยายามสถาปนาเมืองคู่มิตรและโครงการหมู่บ้านคู่ขนานตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา รวม 4 หมู่บ้าน คือ ด้านจังหวัดบุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี กับ จ.เขมราฐ, จ.อุดรมีชัย ของฝ่ายกัมพูชา เป็นจังหวัดคู่ขนานกันไป

โดยให้มีการแลกเปลี่ยนการศึกษา ดูงาน การสนับสนุนวิทยากรให้ความรู้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง การสนับสนุนพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ในการประกอบอาชีพของราษฎรไทย-กัมพูชา การสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้านคู่ขนานให้มีความยั่งยืนเพื่อความร่วมมือกันของทั้งสองฝ่ายที่ยั่งยืนในอนาคต ตลอดจนเป็นพื้นที่ในการป้องกันและเฝ้าระวัง (Bufer Zone) ในการกระทำผิดต่างๆ ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

5. การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือปฏิบัติงานตามข้อตกลงต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ ตลอดจนร่วมกันแก้ปัญหาเขตแดนโดยสันติวิธี ซึ่งเรื่องนี้มีคณะกรรมการปักปันเขตแดนของทั้งสองฝ่ายดำเนินการตามวิธีของคณะกรรมการปักปันเขตแดนทั้งสองฝ่ายอยู่แล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการทุกอย่างเป็นไปด้วยดี

และ 6. การส่งเสริมการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ให้สอดคล้องกับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยทั้งสองฝ่ายส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เพื่อพิจารณากลไกระบบระหว่างประเทศนำไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป ซึ่งทุกวันนี้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา โดยนักศึกษากัมพูชาเข้ามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ, สถาบันราชมงคล ในพื้นที่ จ.อุบลธานี, จ.ศรีสะเกษ, จ.สุรินทร์ ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์แน่นแฟ้นในระยะยาว

“โดยสรุปการประชุมครั้งนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งหากมีอะไรที่เป็นปัญหาเรามีกลไกพูดคุยกันอยู่ ตั้งแต่หน่วยระดับพื้นที่ คือ กองกำลังสุรนารี และกองทัพภาคที่ 2 กับภูมิภาคทหารที่ 4 เพื่อให้เกิดความสงบร่มเย็น ประชาชนทั้งสองฝ่ายจะได้มีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข มีความสัมพันธ์อันดีบนพื้นฐานความเสมอภาคกัน” พล.ท.จีระศักดิ์กล่าว

พล.ท.จีระศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับการลักลอบตัดไม้ โดยเฉพาะไม้พะยูงนั้น ฝ่ายกัมพูชาก็มีนโยบายที่จะป้องกันไม่ให้ราษฎรเข้ามาลักลอบตัด แต่เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูง และจ่ายค่าจ้างสูงด้วย จึงเป็นแรงจูงใจให้ราษฎรกัมพูชาหรือขบวนการพยายามที่จะเข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูง และยังพบว่ามีกองกำลังติดอาวุธคุ้มกันมาด้วย ซึ่งฝ่ายไทยจำเป็นต้องป้องกันตัวเอง ไม่ได้ปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ โดยเรื่องนี้ได้ประสานกับภูมิภาคทหารที่ 4 ของกัมพูชา จัดชุดประสานงานร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขัดแย้งตามมาในระยะยาว

ต่อข้อถามถึงกรณีทหารไทยเหยียบกับระเบิดบาดเจ็บ 3 นายที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวานนี้ (12 ธ.ค.) ว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบตัดไม้หรือไม่ พล.ท.จีระศักดิ์กล่าวว่า ได้เข้าไปพิสูจน์ทราบแล้วว่าไม่ใช่ทุ่นระเบิด เป็นเพียงแก๊ปหรือเชื้อปะทุ ขณะนี้ได้เข้าไปปรับปรุงพื้นที่แล้ว ซึ่งสะเก็ดระเบิดที่เกิดขึ้นทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยบริเวณแขนและขา อีกทั้งเชื้อปะทุนี้เป็นของตกค้างเก่า ไม่ใช่วางใหม่ และทหารที่บาดเจ็บทุกนายได้เข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี อาการล่าสุดปลอดภัยดีทุกนาย

“ได้ส่งทหารเข้าไปเก็บกู้รื้อถอน และเคลียร์พื้นที่ให้ปลอดภัยแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ผู้บัญชาการทหารบกได้ย้ำให้พยายามดูให้มีความปลอดภัยสูงสุด” พล.ท.จีระศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าว พล.ท.จีระศักดิ์ และ พล.ท.เจีย มอญ ได้จับมือกันเพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ก่อนนำคณะทหารกัมพูชาเดินทางศึกษาดูงานในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยมีกำหนดกลับกัมพูชาวันที่ 14 ธันวาคมนี้

พล.ท.จีระศักดิ์ ชมประสพ แม่ทัพภาคที่ 2

พล.อ.เจีย มอน รองผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการภูมิภาคทหารที่ 4 กัมพูชา





กำลังโหลดความคิดเห็น