xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯยันอุเทนฯต้องคืนพื้นที่ตามมติกพย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุฬาฯ ชี้แจงถี่ยิบแจงที่ตั้งอุเทนถวาย จุฬาฯมีกรรมสิทธิ์เต็มที่หลังกพย.มีมติชี้ขาดให้อุเทนถวายขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ และชำระเงินค่าเสียหาย เผยสำนักราชเลขาธิการมีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของกยพ. เมื่อ 4 ก.พ. 2554

รศ.น.อ.นพ.เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ได้ชี้แจงกรณีการขอคืนพื้นที่ของจุฬาฯ ที่ให้อุเทนถวายเช่าว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ได้ทำสัญญาเช่ากับจุฬาฯบนพื้นที่ 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ตั้งแต่ปี 2478-2546 โดยจุฬาฯ ได้เริ่มเจรจาขอคืนพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา เนื่องจากจุฬาฯมีโครงการที่นำความรู้เพื่อสนองตอบการแก้ปัญหาของสังคมอย่างยั่งยืนจึงจำเป็นต้องใช้สถานที่ เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนของชาติ และเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอันใกล้นี้ตามนโยบายของรัฐบาล
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ ในปี 2545 กระทรวงศึกษาธิการได้เคยมีความสนใจที่จะขอใช้พื้นที่บริเวณอุเทนถวายต่อจุฬาฯเพื่อจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) โดยจะประสานงานจัดการเรื่องการย้ายอุเทนถวายไปยังสถานที่ที่เหมาะสม และเพื่อเป็นการขยายพื้นทางการศึกษาของอุเทนถวายด้วย
ดังนั้นเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาดังกล่าว จุฬาฯได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการจัดหาพื้นที่ให้อุเทนถวายประมาณ 30-50 ไร่ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้เสนอพื้นที่ ต.บางปิ้ง จ.สมุทรปราการจำนวน 36 ไร่ให้กับอุเทนถวาย

จนกระทั่งในปี 2547 อุเทนถวายจึงมีการทำบันทึกข้อตกลง ฉบับลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 ตกลงขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้กับจุฬาฯภายในวันที่ 30 กันยายน 2548 โดยหากมีความจำเป็นก็จะผ่อนผันให้ไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น ในปี 2548 จึงมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 4 ฝ่าย ได้แก่ จุฬาฯ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ อุทนถวาย โดยมีสาระสำคัญในการตกลงที่อุเทนถวายจะย้ายไปก่อสร้างสถาบันใหม่ ณ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และจะดำเนินการย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พ.ย. 2548 โดยเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่ากับอุเทนถวายแล้วสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน)ก็จะมาใช้พื้นที่นี้ต่อไป ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนแผนการย้าย คณะรัฐมนตรีได้จัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาท ผ่านสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อดำเนินการต่อไปอีกด้วยจุฬาฯได้มีการส่งหนังสือเพื่อให้อุเทนถวายส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่จุฬาฯ ทั้งหมด 3 ครั้ง คือ วันที่ 6 ธ.ค. 2549, วันที่ 13 ก.พ.2550และวันที่ 10 ก.ค. 2550 รวมถึงมีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้พิจารณางบประมาณในสนับสนุนการจัดตั้งพื้นที่แห่งใหม่ให้อุเทนถวายด้วย

ในปี พ.ศ. 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(กยพ.) โดยในระหว่างการพิจารณาดังกล่าวนั้นนายกสโมสรนักศึกษาอุเทนถวายได้มีการทูลเกล้าฯถวายฎีกา 2 ครั้ง

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 กยพ.ได้มีมติชี้ขาดโดยให้อุเทนถวาย ขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้กับจุฬาฯ และชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ โดยมติที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า ในการย้ายนั้น ขอให้กระทรวงศึกษา ประสานงานกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอใช้ที่ราชพัสดุและงบประมาณสนับสนุนเพื่อการนี้ต่อไปด้วย

ในปีพ.ศ.2553 คณะรัฐมนตรีรับทราบมติดังกล่าว และอัยการสูงสุดแจ้งผลชี้ขาดของ กยพ. ต่อ จุฬาฯและอุเทนถวาย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

สำหรับผลการทูลเกล้าถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของกยพ. ถึงอุเทนถวาย ฉบับลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554

หลังจากนั้นจุฬาฯจึงมีหนังสือสอบถามความคืบหน้าการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ไปยังอุเทนถวาย ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2554 แต่จนถึงปัจจุบันอุเทนถวายยังไม่ได้ปฏิบัติตามการชี้ขาดจากกยพ. แต่ประการใด
กำลังโหลดความคิดเห็น