xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ให้ท้าย“เอี้ยง” รื้อ“รีสอร์ทวังน้ำเขียว”ไม่ผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(18ก.ย.55)ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำพื้นที่อุทยานแห่งชาติ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชศรีมา ตามที่มีราษฎรร้องเรียนมา ได้รายงานผลการตรวจสอบต่อครม.โดยสรุปข้อเท็จจริงและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา 3 ประการ
1.การดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชศรีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี โดยพนักงานเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อาศัยอำนาจตามมาตรา 22 แห่งพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2.กรณีกรมอุทยานฯฟ้องผู้รุกล้ำเขตพื้นที่อุทยานเป็นคดีควรดำเนินการบังคับคดีดังกล่าวตามวิธีการและขั้นตอนกฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้กระทำความผิดออกจากพื้นที่อุทยานฯ และพนักงานเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯจะใช้อำนาจเข้าทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอื่นใดที่รุกล้ำตามมาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ
และ 3. สำหรับการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯทั้งสองแห่ง เห็นชอบควรมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักนำเสนอข้อมูลของผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และจังหวัดนครราชศรีมา ที่เสนอให้ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ป่าสงวนแห่งชาติ ตลอดจนแนวเขตปฏิรูปที่ดิน มาพิจารณาเพื่อให้เกิดความชัดเจน และไม่ให้เกิดการทับซ้อนระหว่างที่ดินเอกชนและของรัฐ
อีกด้านนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรณีการก่อสร้างท่าเทียบเรือเกาะเสม็ด ซึ่งกำลังเป็นข่าวขัดแย้งอยู่ในขณะนี้นั้น จังหวัดระยอง โดยสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ระยองได้ดำเนินการจัดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองเช่าพื้นที่บริเวณที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับท่าเทียบเรือ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อใช้เป็นทางขึ้น - ลง ท่าเทียบเรือ และบางส่วนที่ใช้เป็นที่จอดรถยนต์ เนื้อที่ประมาณ 0-1-31 ไร่ ที่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า -หมู่เกาะเสม็ด
ส่วนอาคารที่พักผู้โดยสารและสะพานท่าเทียบเรือเกาะเสม็ด สร้างด้วยงบประมาณการก่อสร้างจากกองทุนกระจายการผลิตและการจ้างงานไปสู่ภูมิภาค (กจภ.) จึงเป็นทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และส่วนบริเวณที่ตั้งอยู่ในน้ำนั้น มิใช่ที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์จึงไม่สามารถนำมาจัดให้เช่าได้ ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กรมธนารักษ์ กรมเจ้าท่าและกรมอุทยานฯ ในส่วนอาคารท่าเทียบเรือที่อยู่ในน้ำจะต้องได้รับอนุญาตและยินยอมจากกรมเจ้าท่าและกรมอุทยานฯ ก่อน
นายวิรุฬฯ กล่าวต่อว่า พื้นที่บนเกาะเสม็ดทั้งหมด เนื้อที่ประมาณ 4,200 ไร่ เป็นที่ราชพัสดุที่ใช้ในราชการทหารเรือ เพื่อเป็นที่ตั้งด่านทหาร ประภาคารและบ้านพักผู้รักษาประภาคาร ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และในปี 2524 ได้มีการประกาศให้เป็นพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติบางส่วน เนื้อที่ประมาณ 3,500 ไร่ จึงคงเหลือพื้นที่นอกเขตอุยานฯ เนื้อที่ประมาณ 700 ไร่ ซึ่งกองทัพเรือได้ส่งคืนพื้นที่ดังกล่าวให้แก่กรมธนารักษ์เรียบร้อยแล้ว กรมธนารักษ์จึงมีอำนาจในการบริหารจัดการที่ราชพัสดุนอกเขตอุทยานฯ ได้ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง
ท้ายสุด เพื่อความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติกรณีมีการประกาศเขตอุทยานฯ ซ้อนทับที่ราชพัสดุ นายวิรุฬฯ กล่าวว่า แม้จะมีประกาศเขตอุทยานฯ ที่ดินเหล่านั้นยังคงเป็นที่ราชพัสดุ หากกรมธนารักษ์จะดำเนินการประการใดจะมีการขออนุญาตหรือขอความเห็นชอบจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ก่อนเริ่มดำเนินการ ที่ผ่านมาบนพื้นที่บริเวณอุทยานฯ เกาะเสม็ด ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ว่าในการจะดำเนินการทุกครั้ง จะขอความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยาน ในจังหวัด
กำลังโหลดความคิดเห็น