บพ.จ้างที่ปรึกษาทบทวนแนวทางบริหาร 28 สนามบินภูมิภาคอีกครั้ง หลังข้อเสนอการบินไทยบริหารสนามบินกระบี่เหลว ชี้แค่รับจ้างบริหารแต่ไม่มีความชัดเจนว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มหรือไม่ มั่นใจเปิด AEC สนามบินใกล้ชายแดนบูมแน่ เผยผลรายได้ปี 55 เพิ่มทุกแห่ง โดยเฉพาะตากผู้โดยสารโต 100% ส่วนกระบี่, อุดรฯ ทะลุ 1 ล้านคน/ปี
นายเสรี จิตต์โสภา รองอธิบดีฝ่ายท่าอากาศยาน กรมการบินพลเรือน (บพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการบริหารท่าอากาศยานภูมิภาค 28 แห่งของ บพ.ว่า ขณะนี้ บพ.ได้ว่าจ้าง บริษัท ทรานส์คอนซัลท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาและจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ระบบทางอากาศยานภูมิภาค 28 แห่งใหม่ โดยจะเป็นการศึกษาศักยภาพของแต่ละท่าอากาศยานว่าเป็นอย่างไรเพื่อประเมินทิศทางการพัฒนา เช่น ธุรกิจในพื้นที่รอบสนามบิน ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร การท่องเที่ยว เป็นต้น มีระยะเวลาศึกษา 22 เดือน (ก.ย. 55-ก.ค. 57) วงเงิน 29.946 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เคยแสดงความสนใจที่จะเข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยานภูมิภาคของ บพ.ที่มีศักยภาพ คือ ท่าอากาศยานกระบี่ และท่าอากาศยานอุดรธานี เนื่องจากมีจำนวนเที่ยวบินและผู้ใช้มากกว่าท่าอากาศยานแห่งอื่นนั้น เป็นนโยบายเดิมที่ต้องการให้หน่วยงานที่มีความชำนาญด้านการบินเข้ามาบริหารพื้นที่ ซึ่งหลังจากคณะทำงานได้หารือและพิจารณาข้อเสนอของการบินไทยแล้วพบว่าเป็นรูปแบบของการเข้ามาปรับปรุงพื้นที่และรับจ้างบริหารพื้นที่ แต่ไม่มีหลักประกันในเรื่องที่จะสามารถเพิ่มจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสาร ซึ่งไม่แตกต่างจากที่ บพ.บริหารเอง
นายเสรีกล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ บพ.ในปี 2555 ที่ผ่านมาในส่วนของท่าอากาศยานภูมิภาคทั้ง 28 แห่งพบว่ามีการเติบโตของเที่ยวบินและผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะท่าอากาศยานที่อยู่ใกล้พรมแดนเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับปัจจัยหนุนจากที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เช่น ท่าอากาศยานแม่สอด จังหวัดตาก มีการเติบโตของผู้โดยสารมากกว่า 100% จากปี 2554 ขณะที่ท่าอากาศยานกระบี่และอุดรธานีที่มีกำไรก็มีผู้โดยสารถึง 1 ล้านคนต่อปีแล้ว ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และนำรายได้จากท่าอากาศยานที่มีกำไรสนับสนุนท่าอากาศยานที่ยังขาดทุนได้และทำให้การขาดทุนในภาพรวมลดลง
“ในปี 2556 บพ.ได้รับงบลงทุนประมาณ 1,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่เคยได้รับงบลงทุนประมาณ 800-900 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากมีโครงการปรับปรุงเพื่อขยายขีดความสามารถของสนามบินหลายแห่งที่มีการเติบโตของเที่ยวบินและผู้โดยสารสูง รวมถึงเพื่อรองรับการเปิด AEC ในปี 2558 เช่น ขยายแท็กซี่เวย์, ลานจอดและรันเวย์สนามบินแม่สอด จาก 1,500 เมตรเป็น 2,100 เมตร เพื่อให้รับเครื่องบินแอร์บัส 320 และโบอิ้ง 737 ได้ ส่วนสนามบินอุบลราชธานี เป็นจุดสำคัญในการเชื่อมต่ออีสานใต้ของไทยกับลาว เวียดนาม และกัมพูชา โดยได้ตั้งงบปรับปรุงในปี 2557 เป็นต้น และขณะนี้ บพ.ได้เสนอขอแก้กฎกระทรวงเพื่อประกาศให้ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชเป็นท่าอากาศยานนานาชาติอีกด้วย” นายเสรีกล่าว