การบินไทยเผยปี 55 มีกำไรสุทธิ 6.5 พันล้าน ส่วนรายได้มีกว่า 2.1 แสนล้าน หลังปี 54 ที่ต้องประสบกับการขาดทุนกว่าหมื่นล้านจากน้ำท่วมและ ศก.โลกชะลอตัว ส่วนอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 76.6% สูงสุดในรอบ 5 ปี
นายอำพน กิตติอำพน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดการบินไทยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีมติเห็นชอบผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ประจำปี 2555 (มกราคม-ธันวาคม 2555) ซึ่งบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม 6,510 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่จำนวน 6,229 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.85 บาท เปรียบเทียบกับปี 2554 ซึ่งขาดทุนสุทธิ 10,197 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 4.67 บาท
โดยในส่วนของรายได้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรวมทั้งสิ้น 213,530 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวน 19,188 ล้านบาท หรือ 9.9% โดยเป็นรายได้ส่วนของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด จำนวน 8,248 ล้านบาท และกำไรจากการซื้อธุรกิจบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด จำนวน 1,584 ล้านบาท ในส่วนของรายได้รวมเฉพาะกิจการเพิ่มขึ้น 10,042 ล้านบาท จากรายได้จากการขายหรือการให้บริการ (Operating Revenue) ที่เพิ่มขึ้น 10,366 ล้านบาท หรือ 5.4% สาเหตุหลักเนื่องจากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น
และมีค่าใช้จ่ายไม่รวมกำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 209,639 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 9,808 ล้านบาท หรือ 4.9% โดยเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด จำนวน 6,869 ล้านบาท ในส่วนค่าใช้จ่ายเฉพาะกิจการเพิ่มขึ้น 2,685 ล้านบาท หรือ 1.3% เป็นผลมาจากค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการเพิ่มเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร และการจ่ายเงินรางวัลประจำปี ขณะที่ค่าซ่อมแซมและค่าบำรุงอากาศยาน และค่าเช่าเครื่องบินลดลงจากปีก่อน
มีกำไรก่อนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและภาษีเงินได้ 3,891 ล้านบาท จากปี 2554 ที่บริษัทฯ ขาดทุนก่อนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและภาษีเงินได้ 5,489 ล้านบาท และในปี 2555 บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 3,213 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2554 ที่ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 2,428 ล้านบาท
โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 304,096 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2554 จำนวน 30,140 ล้านบาท หนี้สินรวมทั้งสิ้น 234,278 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,269 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 69,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,871 ล้านบาท
นายอำพนกล่าวว่า ในปี 2555 การขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศในภาพรวมมีการขยายตัวจากปี 2554 แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทั้งตลาดภายในประเทศและระหว่างประเทศ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ปริมาณการขนส่งสินค้าลดลงจากการเติบโตที่ชะลอตัวอย่างมากของการค้าโลก ล้วนเป็นปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ทำให้ต้องมีการปรับกลยุทธ์การตลาดด้านราคาโดยการจำหน่ายบัตรโดยสารราคาพิเศษเพื่อกระตุ้นให้ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้น และผลกระทบจากการปิดซ่อมแซมทางวิ่งของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2555 ทำให้เที่ยวบินล่าช้าและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
บริษัทฯ ได้ดำเนินกลยุทธ์ต่างๆ ที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ธุรกิจองค์กรเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและมีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด การจัดตั้งหน่วยธุรกิจการบินไทยสมายล์ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตำแหน่งทางการตลาดให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น การการปรับฝูงบินและพัฒนาเส้นทางบินโดยปรับตารางบินให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางในแต่ละช่วงเวลา (Seasonality) เพื่อให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะการแข่งขันได้รวดเร็วขึ้น การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่นั่งผู้โดยสารและปรับปรุงการให้บริการอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ การป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน การสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเฉพาะส่วนที่ไม่กระทบกับการให้บริการและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีระดับต้นทุนที่เหมาะสมในระยะยาว
ซึ่งทำให้ทั้งปี 2555 บริษัทมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) สูงสุดในรอบ 5 ปี โดยเฉลี่ย 76.6% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งเฉลี่ย 70.4% และทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2555 กลับมามีกำไรอีกครั้งหลังจากประสบภาวะขาดทุนในปี 2554