xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง 2 ประเด็นสอบจำปีไถลตกรันเวย์-ข้ามวันที่ 2 ดีเลย์อีกเกือบ 400 ลำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักร
กก.สอบสวนอุบัติเหตุเครื่องบินการบินไทยไถลตกรันเวย์ ตั้ง 2 ประเด็น เหตุฐานล้อหลักหัก การซ่อมบำรุงและประกายไฟที่ลามไปไหม้เครื่องยนต์ เหตุนักบินกับหอบังคับการบินให้ข้อมูลไม่ตรงกัน “บพ.”ชี้การบินไทยต้องประเมินค่าเสียหายและตัดสินใจร่วมกับผู้ผลิตว่าจะซ่อมแล้วคุ้มหรือไม่ เตรียมเรียก 2 นักบินสัมภาษณ์หลังถูกพักบิน 2 สัปดาห์ ด้านทอท.คาดกู้เครื่องบินได้เที่ยงพรุ่งนี้( 11 ก.ย.) เหตุเจออุปสรรคดินอ่อน ข้ามสู่วันที่ 2 (10 ก.ย.) ถึงบ่าย 3 โมง ดีเลย์เพิ่มอีก 329 ลำ

เมื่อวันที่ 10 กันยายน คณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักร ที่มีพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานได้มีการสอบสวนถึงเหตุเครื่องบิน แอร์บัส 330 -300 เที่ยวบินที่ ทีจี 679 (กวางโจว-กรุงเทพ) ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไถลออกจากแนวกึ่งกลางทางวิ่ง (รันเวย์) ฝั่งตะวันออกขณะทำการลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อคืน วันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมาโดยพล.ต.อ.วิเชียรเปิดเผยว่า อนุกรรมการฯได้เข้าไปสอบสวนเบื้องต้นหลังได้รับแจ้งเหตุเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือน ค.ศ.1944 โดยหน้าที่และเป้าหมายของการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก และไม่ได้สอบสวนเพื่อหาคนผิดหรือตำหนิบุคคลใดให้รับผิดชอบ โดยจะมุ่งสอบสวน 2 ประเด็นหลัก คือ กรณีฐานล้อหลักด้านหลังใต้ปีกขวา (Bogie Beam) หักมาจากสาเหตุอายุการใช้งานหรือการตรวจซ่อมบำรุง และกรณีประกายไฟเกิดขึ้นจากอะไร

นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) กล่าวว่า กรณีประกายไฟหรือไฟไหม้ต้องสอบสวนอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเนื่องจากมีข้อมูลไม่ตรงกัน โดยข้อมูลจากหอบังคับการบินของวิทยุการบินเห็นประกายไฟและมีไฟไหม้ที่ตัวเครื่องยนต์ลามไปที่ปีก ส่วนการบินไทยแจ้งว่ามีเพียงประกายไฟไม่ได้เกิดไฟไหม้แต่อย่างใด ซึ่งจากอายุของแอร์บัส 300 ลำที่เกิดเหตุมีอายุ 8 ปีแล้วเหลืออีก 2 ปีจะปลดประจำการ โดยได้ทำ Overhaul ไปเมื่อปี 2004 และจะต้องทำอีกครั้งในปี 2014 นี้ โดยเพิ่งผ่านการทำ ซ่อมใหญ่ระดับ C-Check ไปเมื่อช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา ดังนั้นต้องตรวจสอบกระบวนการตรวจเช็คต่างๆ ส่วนการสอบสวนจะแล้วเสร็จเมื่อไรต้องขึ้นกับการประมวลผลด้วย บางเหตุการณ์อาจต้องใช้เวลาเป็นปี

ส่วนกรณีที่มีผู้โดยสารร้องเรียนลูกเรือว่าไม่ให้การดูแลนั้นนายวรเดชกล่าวว่า บพ.จะเป็นผู้ดูแลการให้บริการของสายการบิน โดยสามารถร้องเรียนไปที่บพ.ได้ เพราะสายการบินจะได้รับใบอนุญาตประกอบการบินได้จะต้องมีประสิทธิภาพในการให้บริการ

สำหรับความเสียหายของเครื่องบินนั้น จะต้องสอบถามทางการบินไทยซึ่งจะเป็นผู้ประเมินค่าเสียหาย เบื้องต้นเครื่องยนต์เสียหายทั้ง 2 ตัว ฐานล้อหลักด้านหลังหัก 1 คู่ รวมถึงว่าจะซ่อมแซมและจะนำกลับมาใช้ใหม่หรือไม่ก็เป็นเรื่องของการบินไทยที่จะพิจารณาร่วมกับผู้ผลิตว่าจะคุ้มทุนหรือไม่หากจะซ่อม ต้องวางแผนการซ่อมร่วมกันและเสนอแผนมาให้บพ.รับรองก่อนซ่อม


ด้านผู้เชี่ยวชาญภาคอากาศยาน บพ. ในฐานะกรรมการคณะกรรมการสอบสวนฯ ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้กล่องดำที่มีบันทึกข้อมูลด้านการบิน ( Digital Flight Data Recorder : DFDR ) และอุปกรณ์สำหรับบันทึกเสียงในห้องนักบิน (Cockpit Voice Recorder : CVR) ได้มาอยู่ในความดูแลของกรรมการสอบสวนฯแล้ว โดยการสอบสวนจะมีหน่วยงานของรัฐผู้ผลิตอากาศยาน(แอร์บัส) คือ หน่วยงานสอบสวนอุบัติเหตุทางอากาศของ ยุโรป หรือ BEA และรัฐผู้ผลิตเครื่องยนต์ (แพรทท์แอนด์วิทนีย์ ) คือ หน่วยงานสอบสวนอุบัติเหตุทางอากาศของอเมริกาหรือ NESB เข้าร่วมการสอบสวน โดย BEA จะช่วยตรวยสอบวิเคาะห์ในเรื่องฐานล้อหลักเกิดปัญหาขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งทาง BEA ส่วน NESB จะชาวยตรวจสอบกรณีไฟไหม้ตัวเครื่องยนต์ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

ส่วนการอ่านผลกล่องดำนั้น ตามปกติจะใช้ระยะเวลาอ่านประมาณ 1 สัปดาห์ซึ่งขณะนี้จะต้องพิจารณาเรื่องสถานที่จะส่งกล่องดำไปอ่านวิเคราะห์ว่าจะเป็นที่ใดโดยต้องพิจารณาหลายประเด็นประกอบกัน ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนี้มีกรณีฐานล้อหลักหัก ต้องดูเรื่องข้อกำหนดในการบำรุงรักษาฐานล้อที่การบินไทยดำเนินการเป็นอย่างไร รวมถึงการตรวจสอบตัวเครื่องยนต์เพื่อพิสูจน์ว่าประกายไฟที่เกิดขึ้น เกิดในระหว่างที่เครื่องยนต์มีการสัมผัสพื้น หรือฐานล้อหลักเกิดชำรุดหลังจากเครื่องแตะพื้นแล้ว เพื่อดูว่าจะส่งกล่องดำไปวิเคราะห์ที่ไหนจะเหมาะสมที่สุด หากเป็นที่เดียวที่สามารถอ่านวิเคราะห์ได้ทั้ง 3 กรณีจะทำให้มีความรวดเร็วในการประมวลผล

ส่วน 2 นักบินของการบินไทยนั้น หลังเกิดเหตุได้ถูกสั่งหยุดทำการบินและเข้ารับการตรวจสอบจากสถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ โดยทางสถาบันให้หยุดทำการบิน 2 สัปดาห์ก่อนจากนั้นให้กลับมาตรวจสอบอีกครั้ง โดยในส่วนของคณะอนุกรรมการสอบสวนฯจะนัดสัมภาษณ์นักบินต่อไป

ด้านนางระวีวรรณ เนตระคเวสนะ ผู้อำนวยการท่าอากาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า การกู้เครื่องบินแอร์บัส A 320 ออกจากรันเวย์นั้น ทีมเจ้าหน้าที่ ได้แก้ปัญหาสภาพดินที่อ่อนด้วยการนำหินคลุกมาเท ควบคู่กับการใช้ถุงลมกับหมอนอากาศรองหัวเครื่องให้สูงขึ้น เบื้องต้นคาดว่า พรุ่งนี้ไม่เกิน 12.00 น.เจ้าหน้าที่จะสามารถกู้เครื่องได้สำเร็จ ส่วนค่าเสียหายของรันเวย์เบื้องต้นทอท.ได้ดำเนินการซ่อมแซมไปแล้วเป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาทเศษ

ด้าน บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) รายงานเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ช่วงเวลา 07.00-15.00น. ของวันที่ 10 กันยายน มีเที่ยวบินดีเลย์อีก 172 ลำ โดยเป็นเที่ยวบินขาเข้า HOLD รอบนอากาศ จำนวน 42 ลำๆละ 10 นาที Hold รอบนภาคพื้น จำนวน 130 ลำ ๆ ละ 20 นาที ซึ่งบวท.ได้ประสานกับทางสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจการบิน (AOC) และแจ้งให้สายการบินเตรียมการสำรองน้ำมัน เพื่อรองรับการล่าช้าของเที่ยวบิน
กำลังโหลดความคิดเห็น