วิทยุการบินฯเผยเครื่องบินดีเลย์ตั้งแต่ 1 ทุ่มวานนี้ (9 ก.ย.) ถึง 7 โมงเช้าวันนี้ (10 ก.ย.) อีก 157 ลำ หลังจากวันที่ 9 กันยายนดีเลย์ไปแล้ว 415 ลำ จัดเครื่องเล็กใช้รันเวย์ตะวันออก 2,000 เมตรบินขึ้น วันละประมาณ 100 ลำ ลดแออัด เผยรอเครนใหญ่จากแหลมฉบังกู้เครื่องการบินไทยคาดไม่เกินค่ำวันนี้ ชี้ถึงเวลาตัดสินใจสร้างรันเวย์สำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ด้านบพ.เตรียมสัมภาษณ์นักบินรวบรวมหลักฐานก่อนประชุม กก.สอบสวนฯ
น.ต.ประจักษ์ สัจจะโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าภายหลังเครื่องบิน แอร์บัส 330 -300 เที่ยวบินที่ ทีจี 679 (กวางโจว-กรุงเทพ) ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เกิดเหตุไถลออกจากแนวกึ่งกลางทางวิ่ง (รันเวย์) ฝั่งตะวันออกขณะทำการลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อคืน วันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมาว่า การบริหารจัดการเที่ยวบินขณะนี้จะจัดลำดับให้เครื่องบินภาคอากาศได้ลงก่อนในอัตรา 5 ลำต่อเครื่องภาคพื้น 1 ลำ โดยในวันที่ 9 กันยายนตั้งแต่เวลา 07.00 น.19.00น. มีเที่ยวบินดีเลย์รวม 415 ลำ โดย HOLD รอบนอากาศ 201 ลำเฉลี่ยลำละ 15 นาที สูงสุด 39 นาที Hold รอบนภาคพื้น 214 ลำ เฉลี่ยลำละ 25 นาที สูงสุด 42 นาที และตั้งแต่เวลา 19.00 น.ของวันที่ 9 กันยายน ถึง เวลา 07.00น. ของวันที่ 10 กันยายน มีเที่ยวบินดีเลย์รวม 157 ลำโดยเป็นเที่ยวบินขาเข้า HOLD รอบนอากาศ จำนวน 95 ลำๆละ 16 นาที Hold รอบนภาคพื้น จำนวน 62 ลำ ๆ ลำ 30 นาที โดยตั้งแต่เวลา 17.00น.ของวันที่ 9 กันยายนจนถึงเวลา 07.00 น.วันที่ 10 กันยายน มีเที่ยวบินเข้าออกรวม 410 เที่ยวบิน ซึ่งบวท.ได้ประสานกับทางสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจการบิน (AOC) และแจ้งให้สายการบินเตรียมการสำรองน้ำมัน เพื่อรองรับการล่าช้าของเที่ยวบิน
ทั้งนี้ หลังจากบวท.ได้ประสานกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.ในการใช้รันเวย์ฝั่งตะวันออก (19L) ในส่วนที่เหลือประมาณ 2,000 เมตรเพื่อให้เครื่องบินขนาดเล็กเช่น แอร์บัส 320,โบอิ้ง 737 และ ATR ทำการบินขึ้นได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ และสายการบินจะได้ไม่ต้อง HOLD รอนานเกินไปซึ่งช่วยผ่อนคลายความแออัดของรันเวย์ฝั่งตะวันตกได้มาก โดยเครื่องบิน แอร์บัส 320 ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ทำการบินขึ้นเป็นลำแรกช่วงก่อนเที่ยงของวันที่ 9 กันยายนโดยเฉลี่ยมีเครื่องบินขนาดเล็กบินประมาณ 100 เที่ยวบินต่อวันเป็นของบางกอกแอร์เวย์ส 60 เที่ยวบิน การบินไทย 30 เที่ยวบิน และสายการบินอื่นๆ 10 เที่ยวบินซึ่งจะจัดให้บินขึ้นที่รันเวย์ฝั่งตะวันออก (19L) ทั้งหมด
ส่วนการเคลื่อนย้ายเครื่องบินของการบินไทยออกนั้น จะต้องรอเครื่องมือขนย้ายซึ่งการบินไทยได้ประสานเพื่อนำรถเครนขนาดใหญ่จากท่าเรือแหลมฉบังมายกเครื่องบิน แอร์บัส A 3 20 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ ในช่วงค่ำของวันนี้ (10 ก.ย.) จากนั้น ทอท.จะเร่งซ่อมผิวรันเวย์และสนามบินหญ้าด้านข้างที่ได้รับความเสียหายให้แล้วเสร็จเพื่อเปิดใช้รันเวย์ตามปกติในวันพุธที่ 11 กันยายน
น.ต.ประจักษ์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีความจำเป็นต้องมีรันเวย์สำรอง อีก 1 เส้นเพื่อไว้ในในในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกันแล้ว โดยทอท.จะดำเนินการก่อสร้างรันเวย์สำรองความยาว 2,800-2,900 เมตร แต่ยังไม่มีความคืบหน้าซึ่งถึงเวลาที่ผู้รับผิดชอบจะต้องเร่งตัดสินใจดำเนินการ เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุบนรันเวย์ จะมีผลกระทบหลายด้านรวมถึงภาพพจน์ของประเทศด้วย
บพ.เตรียมสัมภาษณ์นักบิน และรวบรวมหลักฐานเบื้องต้นหาสาเหตุ
ด้านนายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ถอดกล่องดำที่อยู่บริเวณท้ายเครื่องบินมาแล้วซึ่งมีทั้ง บันทึกข้อมูลด้านการบิน (Flight Data Recorder : FDR ) และอุปกรณ์ สำหรับบันทึกเสียงในห้องนักบิน (Cockpit Voice Recorder : CVR) มาที่บพ.เพื่อพิจารณาว่าจะจัดส่งไปให้บริษัทแม่แอร์บัสที่ฝรั่งเศสหรือสาขาที่สิงคโปร์ถอดข้อมูล ส่วนการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น คณะกรรมการสอบสวนกรณีอันเกี่ยวกับอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักร ที่มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานจะดำเนินการตามขั้นตอนโดยขณะนี้ บพ.ในฐานะเลขาฯคณะกรรมการจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นทั้งในสถานที่เกิดเหตุ ตัวเครื่องบิน ซึ่งพบว่าเครื่องบินได้เข้าซ่อมใหญ่ระดับ C-Check เมื่อช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งโดยปกติจะใช้งานไปอีก 2-3 ปี จึงจะซ่อมใหญ่อีกรอบ โดยระหว่างนั้นเป็นการซ่อมระดับ A-Check และ C –Check ตามโปรแกรม รวมถึงสัมภาษณ์นักบิน จากนั้นจะรอผลกล่องดำมาประกอบการพิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการส่งผลกล่องดำกลับมา อย่างน้อย 3-4 สัปดาห์