นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กรณีโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 ของ บมจ.ปตท.ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ต้องหยุดผลิตนาน 3-5 เดือนจะไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศ เนื่องจากก๊าซฯ จะส่งตรงจากแหล่งผลิตไปยังโรงไฟฟ้าโดยไม่ผ่านโรงแยกก๊าซฯ 5 ทำให้โรงไฟฟ้าและรถยนต์เอ็นจีวีไม่กระทบ แต่ในส่วนของปิโตรเคมีและแอลพีจีนั้น ทาง ปตท.ได้ดำเนินการสั่งนำเข้ามาเพิ่มเติมโดยด่วนแล้ว
ทั้งนี้ ทาง ปตท.ได้รายงานว่า ปกติแล้วโรงแยกก๊าซฯ มีระบบป้องกันฟ้าผ่าเป็นอย่างดี แต่ในช่วงเกิดเหตุได้เกิดฟ้าผ่าครั้งแรก และอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ แต่เกิดฟ้าผ่าซ้ำลงมาอีกจึงทำให้โรงแยกก๊าซฯ ต้องหยุดผลิตไป โดยตนได้สั่งการให้ ปตท.ตรวจสอบและหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก
ปัจจุบันโรงแยกก๊าซธรรมชาติของไทยดำเนินการโดย ปตท. มีความสามารถแยกก๊าซธรรมชาติตามค่าการออกแบบ (Nameplate Capacity) ได้รวม 2,660 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 แยกก๊าซธรรมชาติได้ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 2 และ 3 มีความสามารถในการแยกก๊าซฯ รวม 750 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 4 มีความสามารถแยกก๊าซธรรมชาติได้ 230 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 แยกก๊าซธรรมชาติได้ 530 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 แยกก๊าซธรรมชาติได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า โรงแยกก๊าซฯ ที่ 5 มีกำลังแยกก๊าซฯ 530 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน และผลิตแอลพีจี 495,000 ตันต่อปี เมื่อมีการหยุดโรงแยกก๊าซฯ ดังกล่าวจะต้องนำเข้าแอลพีจีมาทดแทน อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ไทยนำเข้าแอลพีจีต่ำกว่าแผน จากเดิมคาดนำเข้าเฉลี่ย 1.8 แสนตัน/เดือนในช่วง ก.ค.-ก.ย. แต่ตัวเลขนำเข้าจริงเพียงเดือนละ 1.4. แสนตัน หลังจากรัฐมีความเข้มงวดการใช้แอลพีจีผิดประเภท
นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบภาพรวม แต่ยืนยันว่าในส่วนปิโตรเคมีไม่มีการลดกำลังผลิตเพราะมีการปรับระบบภายในมาใช้แอลพีจีนำเข้าและอีเทน แต่ยอมรับว่าต้นทุนการผลิตอาจสูงขึ้นบ้าง
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 00.34 น.ของวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ได้เกิดเหตุฟ้าคะนองและฝนตกหนักในจังหวัดระยอง และมีอุบัติเหตุฟ้าผ่าที่อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนจากไอเสียเครื่องยนต์ (Waste Heat Recovery Unit, WHRU) ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง หน่วยที่ 5 ทำให้ได้รับความเสียหาย ส่งผลให้โรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 5 ไม่สามารถเดินเครื่องได้ตามปกติ โดย ปตท.ได้เร่งดำเนินการแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิงในประเทศ ทั้งในส่วนของภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้น คาดว่าอุปกรณ์ WHRU ที่ได้รับความเสียหายจะต้องใช้เวลาซ่อมแซมประมาณ 3-5 เดือนจึงจะสามารถกลับมาเดินเครื่องได้ตามปกติ สำหรับสาเหตุของความเสียหายและผลกระทบทางการเงินอยู่ระหว่างการตรวจสอบในรายละเอียดต่อไป