xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสถิติฟ้าผ่าเกิดวันเสาร์ เวลาบ่าย 2-5 โมงมากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เปิดสถิติพบชาวนาเสี่ยงฟ้าผ่าสูงสุด มักเกิดขึ้นในวันเสาร์มากที่สุด ช่วงเวลา 14.00-17.00 น.สธ.เตือนอย่าอยู่ที่โล่งแจ้งขณะฝนตกฟ้าคะนอง ไม่อยู่ใกล้ของสูง งดเล่นมือถือ คอมพ์ เน็ต ที่บ้านระหว่างฟ้าร้อง เผยห้ามออกจากรถหากถูกฟ้าผ่า แนะหากพบคนถูกฟ้าผ่าให้โทร.1669

วันนี้ (19 ก.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนมีโอกาสอย่างมากกับการถูกฟ้าผ่า เนื่องจากข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกฟ้าผ่า (Lightning-related injuries) โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับโรงพยาบาลเครือข่ายการเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ 33 แห่ง ของ สธ.พบว่า จำนวนผู้บาดเจ็บรุนแรงจากฟ้าผ่า ปี 2551-2555 จำนวน 180 ราย (เฉลี่ยปีละ 36 ราย) เสียชีวิต 46 ราย อัตราเจ็บตาย ร้อยละ 23.89 โดยปี 2555 มีผู้บาดเจ็บรุนแรง เป็นชายร้อยละ 68.3 หากแยกตามอายุพบว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 45-49 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 30-34 ปี และอายุ 20-24 ปี ตามลำดับ หากแยกตามอาชีพจะพบเกษตรกรถูกฟ้าผ่า ร้อยละ 45.71 รองลงมาเป็นนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 40 และผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 8.57 วันเสาร์เกิดเหตุสูงสุด ร้อยละ 31.43 เวลาที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นเวลา 14.00-17.00 น.สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นนา ไร่ สวน

ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นอกจากข้อมูลดังกล่าวแล้ว ยังมีผู้ถูกฟ้าผ่าที่เสียชีวิตทันที หรือบางรายบาดเจ็บไม่รุนแรง ไม่ได้มาโรงพยาบาลอีกเป็นจำนวนมาก ผู้ถูกฟ้าผ่ามีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 30 จากหัวใจหยุดเต้นด้วยกระแสไฟฟ้าแรงสูง ช็อกทันที ฟ้าผ่าเกิดจากประจุไฟฟ้าจากก้อนเมฆวิ่งลงสู่พื้นดินและจะผ่าลงในจุดที่สูงสุดของสถานที่นั้นๆ แม้บางครั้งฟ้าผ่าไม่ถูกคน แต่ก็เป็นอันตรายได้หากอยู่ใกล้สิ่งที่ฟ้าผ่า กระแสไฟจากสิ่งที่ฟ้าผ่าอาจพุ่งเข้าสู่คนที่อยู่ใกล้ได้หลายทาง เช่น ผ่านเสื้อผ้าหรือตัวที่เปียก โลหะที่สวมใส่ โครงเสื้อชั้นใน ลวดจัดฟัน สร้อยโลหะ อุปกรณ์โลหะที่ใช้ทำงาน มือถือ เป็นต้น ดังนั้น การป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่าทำได้ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ขณะฝนตกฟ้าคะนอง หรือสวมใส่อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า ทั้งทองคำ เงิน ทองแดง นาก และสร้อยโลหะ หากจำเป็นต้องอยู่ในที่โล่งแจ้งควรนั่งหมอบ ย่อตัวให้ต่ำและชิดกับพื้นให้มากที่สุด แต่ไม่ควรนอนราบกับพื้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา เพราะฟ้าผ่าลงที่สูง

2.ห้ามอยู่ใกล้หรือใช้อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น เครื่องมือการเกษตร โทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์สาธารณะ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีส่วนประกอบที่เป็นแผ่นโลหะ สายอากาศและแบตเตอรีที่เป็นตัวล่อไฟฟ้า 3.ควรหลบในอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้ และหลีกเลี่ยงการเปิดเครื่องไฟฟ้าทุกชนิด ทั้งโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ วิทยุ ขณะฟ้าร้องฟ้าผ่า รวมถึงห้ามอยู่ใกล้ประตู หน้าต่าง ที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะ และ 4.กรณีอยู่ในรถควรปิดกระจกทุกบาน หากฟ้าผ่าลงรถควรตั้งสติ ไม่ควรออกจากรถโดยเด็ดขาด เพราะกระแสไฟฟ้าที่ไหลตามผิวโลหะของตัวถังรถจะไหลลงสู่พื้นดิน หากออกนอกรถจะมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่าสูง การหลบอยู่ในรถจึงปลอดภัยที่สุด เพราะโครงสร้างรถยนต์เป็นโลหะนำไฟฟ้าที่ไม่ดีนัก จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้

“การช่วยเหลือผู้ถูกฟ้าผ่าต้องช่วยอย่างรวดเร็ว โดยประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของที่เกิดเหตุ และโทร.ขอความช่วยเหลือจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 พร้อมแจ้งข้อมูลผู้ถูกฟ้าผ่า และสถานที่เกิดเหตุ และเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากสถานที่โดนฟ้าผ่าไปยังที่ปลอดภัย ประเมินการหายใจและการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น ให้รีบช่วยชีวิตทันที โดยการกดหน้าอกในตำแหน่งตรงกลางให้ได้ประมาณ 100 ครั้งต่อนาที ลึกลงไปอย่างน้อย 2 นิ้ว จนกว่าหัวใจจะเต้น คลำชีพจรได้ หรือมีหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินมาช่วยแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น