ถ้าคุณยืนอยู่กลางที่โล่งท่ามกลางเมฆพายุแล้วรู้สึกขนลุกหรือผมตั้ง ให้ระวังให้ดี เพราะประจุไฟฟ้ากำลังสะสมอยู่บนตัวคุณ และฟ้ากำลังจะผ่าลงตรงจุดที่คุณยืนอยู่
คำเตือนดังกล่าวเผยโดย ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอธิบายถึงการเกิดฟ้าผ่าว่า มีสาเหตุจากประจุที่เกิดจากการเสียดสีของละอองน้ำในก้อนเมฆ ทั้งนี้ การเสียดสีทำให้เกิดประจุแตกตัว หรือเกิดไฟฟ้าสถิต เหมือนการหวีผมในอากาศแห้งแล้วทำให้ผมชี้ฟู
แต่ในกรณีฟ้าผ่านั้น ดร.สธน อธิบายว่า ประจุบวกจะเคลื่อนสู่ด้านบนของก้อนเมฆ และประจุลบเคลื่อนสู่ด้านล่าง ประจุลบด้านล่างของก้อนเมฆเหนี่ยวนำให้เกิดประจุบวกจากพื้นดินเคลื่อนไปรอที่จุดสูงๆ เพื่อให้ง่ายต่อการไหลมาเจอกัน
“ปกติอากาศไม่นำไฟฟ้า แต่เมื่อเกิดความต่างศักย์มากๆ ระหว่างประจุบวกและประจุลบทำให้อากาศแตกตัว และนำไฟฟ้าได้ จึงเกิดฟ้าผ่าขึ้นจากการเคลื่อนที่มาเจอกันระหว่างประจุลบในก้อนเมฆ และประจุบวกจากพื้นดิน ซึ่งฟ้าไม่ได้ผ่าลงอย่างเดียว แต่บางครั้งเราเห็นฟ้าผ่าขึ้นด้วย” ดร.สธนกล่าว
ปรากฏการณ์ฟ้าผ่านี้ ดร.สธน กล่าวว่าเชื่อมโยงกับเมฆฝนฟ้าคะนอง เพราะเป็นแหล่งให้ประจุไฟฟ้าไหล ซึ่งช่วงเกิดเมฆชนิดนี้มากในเมืองไทยคือระหว่างเดือน พ.ค-มิ.ย.และเดือน ต.ค.ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู แต่ช่วงเปลี่ยนจากฤดูหนาวมาร้อนนั้นความชื้นไม่เยอะ จึงมีความหนาแน่นของเมฆไม่มาก
ปัจจัยของพายุฝนฟ้าคะนอง คือความกดอากาศต่ำที่เกิดจากการปะทะระหว่างลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงเหนือทำให้อากาศยกตัว แนวความกดอากาศต่ำนี้เคลื่อนตัวขึ้นเหนือผ่านกรุงเทพฯ ในช่วงเดือน มิ.ย.แล้วขึ้นเหนือต่อไปทำให้เกิดฝนตกหนักที่ลาว
“จากนั้นจะได้ข่าวเกี่ยวกับฝนตกหนักในจีนตอนใต้ เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำดังกล่าวขึ้นไปถึง แต่เมื่อไปปะทะความกดอากาศสูงจากจีนจะเคลื่อนตัวลงมา และผ่านกรุงเทพฯอีกครั้งในเดือน ต.ค จากนั้นจะเหลืออิทธิพลของลมตะวันตกเฉียงใต้อย่างเดียว ทำให้เกิดฝนตกภาคใค้และภาคตะวันตกเยอะ” ดร.สธน สาธยาย
ข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่านั้น ดร.สธน ระบุว่า อันดับแรกให้หาที่กำบังที่มิดชิด การอยู่ในรถก็ปลอดภัย เพราะหากฟ้าผ่า กระแสไฟฟ้าก็จะไหลลงดิน หรือกรณีอยู่ที่โล่งและมีเมฆฝนตั้งเค้า แล้วรู้สึกขนลุกและผมตั้งให้รีบถอยออกมาจากจุดนั้นอย่างรวดเร็วเพราะกำลังเกิดการสะสมประจุที่ตัวเรา แล้วฟ้าจะผ่่าลงมาในไม่ช้า
“ถ้าอยู่ในที่โล่งและหนีไม่ทันแล้วให้พยายามขดตัวให้เล็กที่สุด ทำท่านั่งหลบภัยโดยย่อตัวให้ต่ำกว่าสิ่งรอบตัวให้มากที่สุด คู้เข่าและเขย่งเท้าเพื่อลดพื้นที่สัมผัสพื้น อย่าใช้โทรศัพท์มือถือเพราะจะส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้เกิดการกระเพื่อมของประจุ ซึ่งฟ้าจะผ่าลงมาบริเวณนั้น ถ้าแสงฟ้าแลบให้นับเวลาเป็นวินาที 1 2 3 ... ไปเรื่อยๆ ถ้านับถึง 3 แสดงว่าฟ้าผ่าอยู่ห่างไปประมาณ 1 กิโลเมตร ถ้าถ้าฟ้าอยู่ใกล้กว่า 1 กิโลเมตร ให้รีบหาที่หลบ” ดร.สธนแนะนำ
พร้อมกันนี้ ดร.สธน ยกตัวอย่าง นักท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งขณะถ่ายรูปได้ชี้ตั้งขึ้น หลังจากเธอถอยออกมาจากบริเวณนั้นเพียง 5 นาที ฟ้าก็ผ่าลงตรงจุดที่เธอเพิ่งถ่ายรูปไป และมีผู้เสียชีวิต 1 คน แต่เธอรอดมาได้หวุดหวิด
ความถี่ในการเกิดฟ้าผ่านั้น ดร.สธน อ้างข้อมูลจากองค์การบริหารบินอากาศสหรัฐฯ (นาซา) ว่าเมืองไทยเกิดฟ้าผ่าเฉลี่ยปีละ 15 ครั้งต่อตารางกิโลเมตร แต่พื้นที่ซึ่งมีฟ้าผ่าถี่ที่สุดในโลกคือแอฟริกา ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบ มีความร้อนและความชื้นสะสมสูง ทำให้พายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ตลอดปี ไม่เกี่ยวกับฤดูกาล
ด้าน อ.บุศราศิริ ธนะ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตอนนี้ทางคณะวิทย์ได้ร่วมกับญี่ปุ่นสร้างห้องปฏิบัติการศึกษาฟ้าผ่า โดยได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดความถี่และความรุนแรงของฟ้าผ่า ซึ่งมีสถานีแบบเดียวกันติดตั้งเพื่อเก็บข้อมูลที่อินโดนีเซียและไต้หวันด้วย ซึ่งยังได้ข้อมูลไปศึกษาแง่ฟิสิกส์ อย่างพลังงานในชั้นบรรยากาศสูงๆ ด้วย
“ข้อมูลขณะนี้ยังไม่พบความผิดปกติว่าเกิดมากขึ้นหรือน้อยลง ลักษณะการเคลื่อนตัวของฟ้าผ่าเคลื่อนตัวไปตามกลุ่มฝนในแต่ละฤดูกาล แต่ระบุในระดับจังหวัดไม่ได้ว่าที่ใดเกิดฟ้าผ่ามากที่สุด โดยลักษณะเมฆของฝนฟ้าคะนองคือเมฆคิวมูโลนิบัสที่มีรูปร่างเหมือนทั่ง” อ.บุศราศิริ กล่าว