xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.จ่อชงบอร์ดตั้งบริษัทลูก ก.ย.นี้ พัฒนาเชิงพาณิชย์ตีความไม่ขัด กม.เวนคืน ตั้งเป้ารายได้กว่าแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รฟม.เตรียมชงบอร์ดภายในเดือน ก.ย.นี้ ขอตั้งบริษัทลูกพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า (TOD) เล็งศูนย์ซ่อมห้วยขวาง 1,000 ไร่ และอีก 4 ทำเลทองรวมกว่า 200 ไร่นำร่อง “ยงสิทธิ์” เผยกฤษฎีกาตีความหนุนพัฒนาที่ดินเวนคืนเหนือสถานีได้ ชี้เหมือนสนามบินมีดิวตี้ฟรี มอเตอร์เวย์มีจุดพักรถ คาดมีรายได้ไม่น้อยกว่าแสนล้าน ลดการอุดหนุนภาครัฐ เผย 6 สายต้องใช้เงินอีก 7 แสนล้าน

วันนี้ (15 ส.ค.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้จัดสัมมนา “รฟม.กับข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จากการเวนคืน : อุปสรรค ปัญหา และทางออก” โดยมีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเข้าร่วม เพื่อให้เข้าใจกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และประโยชน์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บริเวณพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development : TOD) กับประเทศและระบบเศรษฐกิจโดยรวม กับชุมชน ประชาชน และกับ รฟม.

โดยนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าฯ รฟม. เปิดเผยว่า การพัฒนาตามแนวคิด TOD จะต้องพิจารณากฎหมายเวนคืน ซึ่งวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกิจการรถไฟฟ้าและธุรกิจเพื่อประโยชน์แก่ รฟม.และประชาชนในการใช้บริการรถไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมา รฟม.ใช้ประโยชน์จากที่ดินจำกัด ต่างจากเอกชนที่สามารถนำที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ รฟม.ใช้ภาษีของประชาชนมาเวนคืนที่ดินจ่ายค่าเวนคืนในราคาตลาดแต่ไม่สามารถนำที่ดินมาพัฒนาต่อยอดเพื่อหารายได้และสร้างผลตอบแทนเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ลดการอุดหนุนจากภาครัฐลงได้ ดังนั้นควรต้องมองว่าเมื่อใช้เงินภาษีมาเวนคืนแล้วควรใช้พื้นที่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่นเดียวกับที่สนามบินสุวรรณภูมิเวนคืนที่ดินมาสร้างสนามบินแล้วยังสามารถพัฒนาดิวตี้ฟรี ที่จอดรถ หรือมอเตอร์เวย์ พัฒนาจุดพักรถ (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์ สร้างรายได้เพิ่มได้จากที่ดินเวนคืน

โดยล่าสุดคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความวัตถุประสงค์กฎหมายเวนคืนที่ช่วยสนับสนุนแนวคิด TOD ในประเด็นที่ รฟม.สามารถพัฒนาพื้นที่หรือโครงสร้างรถไฟฟ้าได้ ไม่ขัดวัตถุประสงค์การเวนคืนถ้าไม่กระทบบริการหรือกีดขวางทางเข้าออก ขณะที่นโยบายได้ผลักดันความร่วมมือระหว่าง รฟม.กับการเคหะแห่งชาติในการพัฒนาพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างรายได้และเพิ่มผู้โดยสารเข้าสู่ระบบ และหากพัฒนารูปแบบ TOD ได้เต็มประสิทธิภาพจะทำให้ รฟม.มีรายได้นำมาลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าโดยไม่ต้องรับการอุดหนุนจากรัฐ โดยรถไฟฟ้า 6 สายตามแผนแม่บทจะใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 7 แสนล้านบาท

นายยงสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สรุปโครงสร้างและรูปแบบการจัดตั้งบริษัทลูก 5 บริษัทแล้ว ประกอบด้วย 1. MRTD : บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (TOD) 2. MRTC : บริษัทพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานี เช่น ร้านค้า โฆษณา 3. MRTS : บริษัท ฟีดเดอร์ บริการระบบขนส่งเชื่อมสถานีและระบบตั๋วร่วม 4. MRTN : บริษัทเดินรถและซ่อมบำรุง 5. MRTM : บริษัทบริการต่างๆ ที่สถานีรวมถึงที่จอดรถ โดย รฟม.ถือหุ้น 100% ซึ่งจะเสนอขอตั้งบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้ในเดือนกันยายนนี้ คาดว่าจะจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จในปี 57 และเริ่มพัฒนาพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงห้วยขวางประมาณ 1,000 ไร่ มูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาทได้ก่อน คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ รฟม.ได้ถึงแสนล้านบาท และอีก 4 ทำเลอีกกว่า 200 ไร่ คือ ศูนย์ซ่อมบางไผ่ สายสีม่วง 14 ไร่ ศูนย์ซ่อมมีนบุรี สายสีชมพู 218 ไร่ สถานีจอดแล้วจรบางปิ้ง สายสีเขียวอ่อน 18 ไร่ ศูนย์ซ่อมคูคต สายสีเขียวเข้ม 100 ไร่ ทั้งหมดเป็นที่ดินที่เวนคืนไว้แล้ว

นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมและเลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา กล่าวว่า กฎหมายเวนคืนมีการพัฒนาตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เรื่องตีความการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการเวนคืนนั้นถือประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ดังนั้น การตีความแบบเดิมเพื่อรถไฟฟ้าอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ประโยชน์สูงสุด แต่ รฟม.จะต้องบริหารจัดการภายใต้กรอบกฎหมายด้วยว่าจะทำประโยชน์ให้เกิดแก่ส่วนรวมและทำอย่างไรให้ประชาชนที่ถูกเวนคืนเห็นด้วย ซึ่งสอดคล้องกับหลักการระงับข้อพิพาทของศาลปกครองที่ยึดประโยชน์สาธารณะ
กำลังโหลดความคิดเห็น