xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอุตรดิตถ์นับร้อยโวยกรมชลฯ กดราคาเวนคืนที่ทำคลองต่ำเตี้ยติดดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุตรดิตถ์ - ชาวบ้านเกือบร้อยคนโวยกรมชลประทาน จ่ายค่าเวนคืนที่ดินต่ำกว่าราคาซื้อขายหลายเท่าตัว บางรายบอกปลูกอ้อยปีเดียวได้เกินกว่าเงินชดเชยแล้ว แถมบางคนได้แค่ 209.20 บาท แฉซ้ำก่อนทำไม่เคยถาม เดือดร้อนก็ไม่ช่วย ถามจะให้อยู่กันอย่างไร

วันนี้ (27 ต.ค.) ชาวบ้านหมู่ 2 ต.ข่อยสูง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ 93 รายรวมตัวหารือกันที่บ้านนายทักษะ อัปปมัญญา ผู้ใหญ่บ้าน กรณีนายเกษม สงวนวงษ์ หัวหน้าฝ่ายจัดหาที่ดิน 3 สำนักกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน มีประกาศกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน และจำนวนเงินทดแทน โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก ต.ผาจุก อ.เมือง โดยทั้งหมดเห็นว่าเงินที่จะได้รับต่ำกว่าราคาซื้อขายจริง

นายทักษะกล่าวว่า ชาวบ้านทั้งหมดพอใจกับการจ่ายเงินทดแทนต้นไม้ พืชผลทางการเกษตร และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ แต่ที่ไม่เห็นด้วยและเห็นว่าต่ำมากจนเกินไปคือ ที่ดิน ซึ่งปกติซื้อขายกันไร่ละ 110,000-200,000 บาท แต่กรมชลระทานจ่ายทดแทนให้ไร่ละ 32,000 บาทเท่านั้น ชาวบ้านบางรายเพิ่งซื้อที่ดินมาในราคาไร่ละ 110,000 บาท ทำกินไม่นานนักก็ต้องถูกเวนคืนเพื่อสร้างคลองส่งน้ำ ได้ทดแทนไร่ละ 32,000 บาท บางรายได้เงินทดแทนต่ำสุดเพียง 209.20 บาท นอกจากนี้ที่ดินของชาวบ้านบางรายที่เป็นแปลงเดียวกันได้รับเงินทดแทนต่างกันหลายเท่า

“เราตกลงกันว่าจะนำเรื่องหารือกับกำนันและผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อหาทางคัดค้านและแก้ไขโดยเร็ว”

นางเจริญ แก้วคต อายุ 50 ปี ได้รับที่ดินเป็นมรดก 11 ไร่ ยึดอาชีพทำไร่อ้อยได้ปีละ 220 ตัน ขายอ้อยได้ตันละ 1,000 บาท เฉลี่ยรายได้หักค่าใช้จ่ายแล้วปีละ 180,000 บาท ซึ่งการปลูกอ้อย 1 ครั้งสามารถเก็บผลผลิตได้ถึง 3 ครั้ง หรือ 3 ปี แต่เมื่อมีโครงการก่อสร้างคลองชลประทานเข้ามาเวนคืนที่ไป 9.3 ไร่ ได้รับเงินทดแทนเพียง 386,000 บาทเศษ ที่ดินที่เหลือราว 1 ไร่เศษก็ไม่สามารถทำอะไรได้ หากประเมินตามราคาซื้อขายกัน 9.3 ไร่น่าจะได้มากกว่า 1 ล้านบาทก็จะสามารถนำเงินไปซื้อที่ดินทำมาหากินแห่งใหม่ได้

“ไม่ได้ดูถูกเงิน 3.8 แสนบาท แต่ปลูกอ้อยครั้งเดียวก็ได้แล้ว ที่ดินก็ยังคงอยู่ทำกินไปจนตาย ยังตกทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้อีกด้วย แต่เมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้เงินที่ได้รับก็ไม่รู้ว่าจะใช้ได้นานขนาดไหนเพราะมีความรู้แต่เรื่องการเกษตรเท่านั้น จะให้ไปค้าขายหรือทำอย่างอื่นก็คงยาก จะนำเงินไปซื้อที่ดินใหม่เพื่อทำมาหากินก็คงไม่พอ กรมชลประทานให้เงินทดแทนน้อยเกินไป ทำไมไม่ยึดความถูกต้อง และความเหมาะสม ทำไมต้องรังแกประชาชนที่หาเช้ากินค่ำเช่นนี้ด้วย”

ด้านนายใจ ปิ่นทอง อายุ 56 ปี ชาวบ้านอีกราย กล่าวว่า ข้องใจว่าทำไมก่อนที่จะสร้างคลองชลประทานก็ไม่แจ้งให้ประชาชนทราบ ไม่เคยมาสอบถามความเห็นว่าต้องการหรือเหมาะสมหรือไม่ คลองส่งน้ำในพื้นที่การเกษตรเดิมก็มีอยู่ทั้ง 2 คลอง และฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำ ทำไมไม่ลงทุนขุดลอกไม่เท่าไหร่ก็ไช้ประโยชน์ได้แล้ว แต่ทำไมต้องมาขุดคลองในที่ทำกิน และบ้านเรือนของประชาชนด้วย

“การจ่ายเงินทดแทนให้ประชาชนต้องเสียพื้นที่มันถูกเกินไป ทำไมไม่แก้ไขโดยการหาที่ดินทำกินแห่งใหม่ให้ เพราะบางรายถูกแนวคลองตัดผ่านจนไม่เหลือที่ทำกินอีกเลย อนาคตชาวบ้านเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ใครจะรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าประชาชนไม่ต้องการคลองส่งน้ำ แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็อย่าทำให้เดือดร้อน และเมื่อเดือดร้อนแล้วก็ไม่เคยเข้ามาดูแล เป็นการมัดมือชกโดยที่ประชาชนไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย”

นายใจ ปิ่นทองและนางเจริญ แก้วคต ชี้ให้ดูไร่อ้อยที่ถูกคลองตัดผ่าน
กำลังโหลดความคิดเห็น