xs
xsm
sm
md
lg

ยานนาซาทะยานฟ้าหาคำตอบ อะไรปล้นอากาศจากดาวอังคาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“มาเวน” ยานสำรวจชั้นบรรยากาศดาวอังคารของนาซา ทะยานฟ้ามุ่งหน้าสู่ดาวแดง หาคำตอบอะไรปล้นอากาศจากดาวเคราะห์เพื่อนบ้าน หลังพบหลักฐานเคยมีน้ำและอากาศที่หนาแน่น

จรวดแอตลาส 5 (Atlas V) นำยานอวกาศมาเวน (Maven: Mars Atmosphere and Volatile EvolutioN) ขององค์การบริหารการอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ทะยานฟ้าจากสถานีกองทัพอากาศเคปคานาเวอรัล ในฟลอริดา สหรัฐฯ เมื่อ 01.28 น.วันที่ 19 พ.ย.ตามเวลาในประเทศไทย

ยานมาเวนจะโคจรรอบดาวอังคารเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศชั้นบนของดาวเคราะห์เพื่อนบ้านดังกล่าวเพื่ออธิบายถึงกระบวนการที่ปล้นเอาอากาศเกือบทั้งหมดของดาวแดงไป โดยตามกำหนดการบีบีซีนิวส์รายงานว่า ยานโคจรมูลค่าราว 2 หมื่นล้านลำนี้จะไปถึงเป้าหมายในเดือน ก.ย.2014

ทั้งนี้ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ครั้งหนึ่งดาวอังคารเคยถูกปกคลุมไปด้วยก๊าซหนาๆ ที่เอื้อต่อการมีน้ำในรูปของเหลวอยู่บนพื้นผิว แต่ทุกวันนี้ความกดอากาศของดาวเคราะห์ต่ำมาก ซึ่งน่าจะทำให้น้ำเดือดระเหยไปทันที

ตามขั้นตอนยิงจรวดยานมาเวนถูกปล่อยจากจรวดท่อนบนของแอตลาส 5 ประมาณ 53 นาที หลังจากจรวดทะยานฟ้า จากนั้นยานอวกาศของนาซาจะคลี่แผงเซลล์แสงอาทิตย์ แล้วปรับมุมเพื่อเข้าสู่เส้นทางการเดินทาง

ขณะที่ยานสำรวจบรรยากาศดาวอังคารของอินเดียที่ถูกส่งขึ้นไปก่อนหน้านี้ 2 สัปดาห์ ไม่มีพลังงานขับเคลื่อนในตัว จึงต้องโคจรรอบโลกอยู่เกือบเดือน เพื่อให้มีความเร็วมากพอที่จะหนีจากแรงดึงดูดโลก แต่จะไปถึงเป้าหมายในช่วงเดือน ก.ย.2014 เช่นเดียวกัน

กาย บิวเทลสชีส์ (Guy Beutelschies) ผู้จัดการโครงการของยานอวกาศที่โรงงานผลิตล็อกฮีดมาร์ติน (Lockheed Martin) อธิบายว่า ระหว่างการท่องอวกาศของยาน พวกเขามีแผนปรับแก้เส้นโคจรทั้งหมด 4 ครั้ง โดยการจุดระเบิดเครื่องยนต์ขับดัน เพื่อกระตุกวิถีโคจรให้ยานไปถึงถูกที่ถูกเวลา จากนั้นจะจุดระเบิดชุดเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเพื่อชะลอความเร็ว แล้วถูกจับไว้ในวงโคจรของดาวอังคาร








กำลังโหลดความคิดเห็น